คำวินิจฉัยที่ 19/2549

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๙/๒๕๔๙

วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสีคิ้ว
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสีคิ้วส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘ นายบุญฤทธิ์ เกรียงไกรลิบ ที่ ๑ นายไพศาลฉัตรเลขวนิช ที่ ๒ นางอรนุช ตันติวรวงศ์ ที่ ๓ นายกวีศักดิ์ ฉัตรเลขวนิช ที่ ๔ นางพัชราตะวันกาญจนโชติ ที่ ๕ และนายศักดา จริยะธนา ที่ ๖ โจทก์ ยื่นฟ้อง กระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๓ สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาสีคิ้ว ที่ ๔ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๕ กรมป่าไม้ ที่ ๖ จำเลย ต่อศาลจังหวัดสีคิ้ว เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๔๓/๒๕๔๘ ความว่า เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๓๓ โจทก์ทั้งหกได้ร่วมกันซื้อที่ดินรวม ๙ แปลง ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๔๗๖, ๑๐๔๗๗, ๑๐๔๗๘, ๑๐๔๗๙, ๑๐๔๘๐, ๑๐๔๘๑, ๑๐๔๘๒, ๑๐๔๘๓, ๑๐๔๘๔ ตั้งอยู่ตำบลมิตรภาพ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมาจากนายทรงพล ตั้งสุณาวรรณ และนางประดับ ตั้งสุณาวรรณ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น๒,๓๕๙,๑๖๕ บาท รวมเนื้อที่จำนวน ๓๙๓ ไร่เศษ ก่อนซื้อที่ดินทั้ง ๙ แปลง ได้ทำการสอบถามสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ตลอดจนสำนักงานป่าไม้จังหวัดนครราชสีมา และประชาชนใกล้เคียง ซึ่งได้รับแจ้งว่าที่ดินดังกล่าวออกโดยถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ต่อมาโจทก์ทั้งหกประสงค์จะโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้บุคคลอื่น แต่จำเลยที่ ๔ ไม่สามารถดำเนินการให้ได้และแจ้งว่า โฉนดที่ดิน ๗ แปลง คือ โฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๔๗๖ – ๑๐๔๗๘, ๑๐๔๘๑ – ๑๐๔๘๔มีการออกโฉนดทับที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขาซับประดู่ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ป.ที่ดินดังกล่าวจึงถูกอายัดห้ามจำหน่ายจ่ายโอนกรรมสิทธิ์ ส่วนที่ดินอีก ๒ แปลงที่เหลือ ไม่ผิดแต่ต้องโยงไว้เพื่อตรวจสอบก่อน โดยในการสอบสวนดำเนินคดีอาญา โจทก์ทั้งหกถูกกันไว้ในฐานะพยาน คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินทั้ง ๗ แปลง ตามบันทึกอำเภอสีคิ้ว ลงวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๓๘สรุปผลว่าบริเวณที่ตรวจสอบมีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีลักษณะเป็นที่ราบไม่มีสภาพป่า เป็นพื้นที่เหมาะแก่การเกษตรและไม่เป็นต้นน้ำลำธาร ทั้งไม่เป็นพื้นที่ที่มีภาระผูกพันของกรมป่าไม้ ไม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาซับประดู่ และไม่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ โดยมีการส่งเรื่องต่อให้คณะกรรมการประสานการแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินของรัฐส่วนจังหวัดนครราชสีมา(กบร.ส่วนจังหวัด) ในส่วนของการดำเนินคดีอาญาพนักงานสอบสวนเห็นว่าที่ดินทั้ง ๙ แปลง มีอาณาเขตติดเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาซับประดู่ เขามะกอก ตามนัยกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๖๐ (พ.ศ.๒๕๐๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ แต่ต่อมาได้มีการประกาศกำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน และอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ประกอบกับคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๖ มอบป่าเสื่อมโทรมให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมาเข้าดำเนินการจัดสรรให้ราษฎรที่ไม่มีที่ทำกินเป็นของตนเองหรือมีแต่ฐานะไม่เพียงพอเข้าทำกินต่อไป ดังนั้นอาณาเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาซับประดู่ – เขามะกอก(บางส่วน) ซึ่งหมายรวมถึงที่ดินทั้ง ๙ แปลงดังกล่าวจะไม่ถูกเพิกถอนและไม่ได้เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติอีกต่อไป ทั้งนี้โดยผลของพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน และอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.๒๕๓๔ ออกตามความในพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๓๒ มาตรา ๒๖(๔) ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ซึ่งโดยผลของกฎหมายดังกล่าว หากผู้ครอบครองและทำประโยชน์มีสิทธิอยู่แล้วตามประมวลกฎหมายที่ดิน ก็สามารถทำการรังวัดและพิสูจน์สอบสวนสิทธิเพื่อออกเอกสารสิทธิต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายที่ใช้ในการกระทำความผิดแตกต่างจากกฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา ๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และเป็นเหตุให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามมาตรา ๓๙(๕) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คดีมีหลักฐานไม่พอฟ้องจึงเห็นควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสิบเจ็บคนตามข้อกล่าวหา และต่อมาพนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดสีคิ้วมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งสิบเจ็ดคน โจทก์ทั้งหกจึงมีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่อจำเลยที่ ๕ ขอให้พิจารณาและมีคำสั่งรับรองสิทธิในที่ดินดังกล่าวทั้ง ๗ แปลงว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยที่ ๕ ไม่ดำเนินการใดๆ ในเวลาอันควร และเพิกเฉยโจทก์ที่ ๑ จึงมีหนังสือขอทราบผลการพิจารณาไปยังจำเลยทั้งหกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับคำชี้แจงอันเป็นการบ่ายเบี่ยงและโยนความรับผิดชอบกันเอง โดยในการพิจารณาเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง ๗ แปลงดังกล่าวสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาเห็นว่า มูลเหตุที่สำนักงาน ป.ป.ป. เห็นควรให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเนื่องจากการโอนโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นการออกโฉนดที่ดินเฉพาะราย โดยไม่มีหลักฐานแจ้งการครอบครอง(ส.ค.๑) และที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดินตามข้อ ๘ แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ ๕ พ.ศ.๒๔๙๗แต่เมื่อต่อมา มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินท้องที่อำเภอสีคิ้ว พ.ศ.๒๕๓๔ มีผลเป็นการเพิกถอนเขตป่าสงวนแห่งชาติ โดยที่ดินทั้ง ๗แปลงดังกล่าวไม่ได้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติอีกต่อไป ประกอบกับได้มีมติคณะรัฐมนตรีมอบที่ดินป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้เข้าดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ดังนั้น มูลเหตุที่เพิกถอนตามมาตรา ๖๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้เปลี่ยนแปลงไปและคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดนครราชสีมา(กบร.จังหวัด)ได้ประชุมพิจารณาพิสูจน์สิทธิในที่ดินตามหลักเกณฑ์ของ กบร. โดยได้สอบสวนพยานบุคคล ซึ่งต่างให้ถ้อยคำว่า ที่ดินทั้ง ๗ แปลงดังกล่าวเป็นที่ดินที่ได้ทำประโยชน์มาก่อนที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (๑ธันวาคม ๒๔๙๗) เป็นที่ดินที่อยู่ห่างไกลความเจริญอยู่ในถิ่นทุรกันดาร เจ้าของที่ดินทำไร่ทำสวนอยู่ในพื้นที่ไม่ทราบข่าวสารของทางราชการ ไม่มีเจตนาฝ่าฝืนการแจ้งการครอบครอง และได้พิสูจน์ร่องรอยการทำประโยชน์ในที่ดินในภาพถ่ายทางอากาศแล้ว ปรากฏว่าผู้เชี่ยวชาญทางศาลวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ มีความเห็นว่าได้มีการเข้าทำประโยชน์ตามสภาพของพื้นที่มาตั้งแต่ก่อนวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๙๖ แต่ปรากฏว่ามีไม้ป่าธรรมชาติขึ้นเป็นกลุ่มๆภายในบริเวณที่ทำประโยชน์ซึ่งเป็นไปตามสภาพการใช้ประโยชน์ในท้องที่อำเภอสีคิ้ว แต่กลับยังคงเพิกเฉยบ่ายเบี่ยงต่อไปว่า ที่ดินพิพาทยังคงอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาซับประดู่ – เขามะกอก และท้ายที่สุดก็แสดงถึงความไม่รับผิดชอบต่อปัญหาที่จำเลยทั้งหมด ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่โจทก์ทั้งหกโดยการสรุปผลของฝ่ายจำเลยทั้งหมด เกี่ยวกับการอายัดสิทธิเรียกร้องและการทำนิติกรรมที่ดินในคดีนี้ ก็เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย และยังไม่เคยมีแนวปฏิบัติมาก่อนจึงให้ส่งเรื่องหารือ กรมที่ดิน หลังจากรับหนังสือแจ้งดังกล่าวแล้ว โจทก์ทั้งหกก็ยังคงติดต่อกับจำเลยทั้งหมดจนถึงปัจจุบัน เพื่อทราบผลดำเนินการ แต่ไม่ได้รับคำตอบและกลับเพิกเฉยไปในที่สุดที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะรายตามมาตรา๕๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และมีการออกโฉนดโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ต้องห้ามมิให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์ทั้งหกได้ร่วมกันซื้อที่ดินพิพาททั้ง ๙ แปลงจากบุคคลภายนอกด้วยความสุจริตและเสียค่าตอบแทน กับทั้งก่อนจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ ได้มีการซักถามตรวจพิสูจน์ความชอบด้วยกฎหมายของที่ดินพิพาทจากพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจนได้รับคำยืนยันแน่นอน จึงทำการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ โจทก์ทั้งหกจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังกล่าว จำเลยทั้งหมดไม่อาจอายัดสิทธิในการทำนิติกรรมในที่ดินพิพาท หรือไม่อาจสั่งการให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าว การกระทำของจำเลย ทั้งหก เป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ขอให้ศาล มีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง๙ แปลงดังกล่าว และให้มีคำสั่งเพิกถอนยกเลิกคำสั่งห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินทั้ง ๙ แปลงดังกล่าว หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามขอถือเอาคำพิพากษาแทน การแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยทั้งหกให้การว่า โจทก์ทั้งหกและผู้ซึ่งโจทก์ทั้งหกอ้างว่า เป็นผู้โอนสิทธิในที่ดินทั้ง ๗ แปลงนั้นให้แก่โจทก์เป็นผู้ไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมายเพราะโฉนดที่ดินทั้ง ๗ แปลงดังกล่าว ออกทับที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาซับประดู่และป่าเขามะกอก ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑,๒๓๕ (พ.ศ.๒๕๓๔) และการออกโฉนดที่ดินทั้ง ๗ แปลงนี้เป็นการขอออกโฉนดแบบเฉพาะราย โดยบุคคลซึ่งโจทก์ทั้งหกได้รับโอนสิทธิมาไม่ได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ ถือว่าบุคคลเหล่านี้สละสิทธิครอบครอง รัฐมีอำนาจจัดที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ และเมื่อกรมป่าไม้ได้ประกาศให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวข้างต้นเป็นป่าสงวนแห่งชาติ จึงทำให้ที่ดินแปลงดังกล่าวต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน ตามข้อ ๘ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๙๗)การดำเนินการออกโฉนดที่ดินทั้ง ๗ แปลง ไม่ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ (พ.ศ.๒๕๑๕) ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการออกโฉนดที่ดินและออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เพราะได้กระทำไปโดยใช้ระวางรูปถ่ายทางอากาศที่ยังไม่มีใช้ การขอออกโฉนดที่ดินทั้ง ๗ แปลงดังกล่าวเป็นการขอออกโฉนดที่ดินผืนใหญ่มีเนื้อที่ถึง๓๙๓ไร่ เพื่อประกอบธุรกิจการค้ามิใช่การขอออกโฉนดตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗มาตรา ๕๙ ทวิ ที่มุ่งช่วยเหลือผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งตกค้างการแจ้งการครอบครองให้มีที่ดินตามสมควร พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตพื้นที่ดินแปลงพิพาทเป็นเขตปฏิรูปที่ดินและคำสั่งเด็ดขาดไม่ ฟ้องคดีของพนักงานอัยการไม่อาจยกเลิกเพิกถอนสภาพความเป็นป่าสงวนแห่งชาติของที่พิพาทและไม่อาจยกเลิกความผิดในการออกโฉนดที่ดินทั้ง ๗แปลงทับที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยมิชอบ จำเลยทั้งหกเพียงแต่ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าควรเพิกถอนโฉนดทั้ง ๗ แปลงตามมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการเท่านั้น ยังไม่ได้มีความเห็นหรือคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง ๗ แปลงแต่อย่างใด กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวยังคงได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นของผู้มีชื่อในเอกสารสิทธิ คำสั่งอายัดสิทธิในการทำนิติกรรมในที่ดินพิพาทเป็นเพียงมาตรการทางปกครอง เพื่อรอคำสั่งว่าจะเพิกถอนโฉนดที่ดินทั้ง ๗ แปลงตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ป. หรือไม่เท่านั้นโจทก์ทั้งหกไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งหกได้ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสีคิ้วพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งหกได้ซื้อที่ดินทั้ง ๙ แปลง ต่อมาประสงค์จะโอนที่ดินทั้ง ๙ แปลง แต่ที่ดินดังกล่าวถูกระงับการจำหน่ายจ่ายโอนเนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าโฉนดเลขที่ ๑๐๔๗๖ – ๑๐๔๗๘, ๑๐๔๘๑ – ๑๐๔๘๔ มีการออกโฉนดทับที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาซับประดู่หรือไม่ ส่วนที่ดินอีก ๒ แปลงที่เหลือ มิได้ถูกสงสัยว่าอยู่ในเขตป่าสงวน แต่ที่ดินติดกันจึงต้องโยงไว้เพื่อตรวจสอบก่อน ซึ่งที่ดินทั้ง ๙ แปลงดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากจำเลยทั้งหกและคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินของรัฐจังหวัดนครราชสีมา(กบร.) ตามขั้นตอน ซึ่งสุดท้ายสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมาได้มีความเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นเรื่องข้อกฎหมายและยังไม่เคยมีแนวทางปฏิบัติมาก่อน จึงส่งเรื่องหารือกรมที่ดิน หลังจากเรื่องอยู่ที่กรมที่ดินแล้ว โจทก์ทั้งหกได้ติดต่อจำเลยทั้งหกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเพื่อทราบผลการดำเนินการ แต่ไม่ได้รับคำตอบ จำเลยทั้งหกกลับเพิกเฉยไปในที่สุด การที่ที่ดินทั้ง ๙ แปลงถูกระงับการจำหน่ายจ่ายโอนนั้น เป็นเพียงกรณีหน่วยงานทางปกครองตั้งประเด็นสงสัยว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือไม่ เพื่อทำการตรวจสอบเท่านั้น ยังไม่มีการยืนยันโต้แย้งสิทธิว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของโจทก์ทั้งหก อีกทั้งสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเป็นหน่วยงานที่ที่ดินดังกล่าวตั้งอยู่ก็มิได้ทำความเห็น ชี้ชัดว่าที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวน โดยให้ความเห็นว่าโฉนดที่ดินนั้นมีผลใช้บังคับอยู่และเพื่อป้องกัน ความเดือดร้อนของราษฎร ตลอดจนปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติและเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ จึงไม่ควรต้องเพิกถอนโฉนดที่ดินในพื้นที่ที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งมีผลเป็นการถอนสภาพป่าสงวนแห่งชาติ เทียบเคียงตามนัยหนังสือกรมที่ดิน ที่ มท ๐๗๑๙/ว ๓๔๑๖๖ ลงวันที่ ๖ตุลาคม ๒๕๔๒ แต่เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นปัญหา ข้อกฎหมายและยังไม่เคยมีแนวทางปฏิบัติมาก่อน จึงส่งเรื่องให้กรมที่ดินเพื่อหารือว่าความเห็นของจังหวัดถูกต้องหรือไม่เท่านั้นโดยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง ๙ แปลงของโจทก์ทั้งหกแต่อย่างใด ซึ่งเป็นเพียงขั้นตอนปฏิบัติของหน่วยงานทางปกครองที่จะทำการตรวจสอบที่ดินเพื่อ ความถูกต้องในการออกโฉนด แต่การกระทำของหน่วยงานทางปกครองนั้นล่าช้าเกินควร ทำให้โจทก์ ทั้งหกได้รับความเสียหายจากการถูกระงับจำหน่ายจ่ายโอนเพื่อตรวจสอบเท่านั้น คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเพียงว่า หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยถึงสิทธิในที่ดินดังกล่าวอีก จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติตามมาตรา ๙(๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ คดีดังกล่าวจึงอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
ศาลปกครองนครราชสีมาเห็นว่า คดีนี้แม้ยังไม่มีการเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาท ก็ตาม แต่ตามคำฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งหก ยื่นคำฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้รับรองหรือคุ้มครองสิทธิในที่ดินของตน ทั้งการที่จำเลยทั้งหกให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์ทั้งหกออกโฉนดที่ดินทับที่ ป่าสงวนแห่งชาติ ก็เป็นประเด็นพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินโดยตรง คดีจึงมีประเด็นหลักแห่งคดีเป็น การโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยว่า ที่ดินพิพาทเป็นป่าสงวนแห่งชาติหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้มีชื่อในโฉนดที่ดิน กรณีจึงเป็นเรื่องพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว คดีนี้ โจทก์ทั้งหกเป็นเอกชน ยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ทั้งหกร่วมกันซื้อที่ดินมีโฉนดจำนวน ๙ แปลงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ และมีความประสงค์จะขายที่ดินดังกล่าวในปี พ.ศ.๒๕๓๘ แต่ถูกจำเลยที่ ๔ อายัดห้ามจำหน่ายจ่ายโอน เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าที่ดินของโจทก์ทั้งหกตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๐๔๗๖ ถึง ๑๐๔๗๘ และ ๑๐๔๘๑ ถึง ๑๐๔๘๔ มีการออกทับที่ป่าสงวนแห่งชาติเขาซับประดู่หรือไม่ เพื่อดำเนินการเพิกถอนโฉนดทั้ง ๗ แปลงตามมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ(ป.ป.ป.) ที่เห็นว่าการออกโฉนดที่ดินทั้ง ๗ แปลงดังกล่าวเป็นการออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายส่วนที่ดินอีก ๒ แปลงที่เหลือไม่ได้ถูกสงสัยว่าอยู่ในเขต ป่าสงวนแต่ต้องโยงไว้เพื่อตรวจสอบก่อน ทั้งที่คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่ดินทั้ง ๗ แปลง สรุปผลว่าบริเวณที่ตรวจสอบมีการครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีลักษณะเป็นที่ราบไม่มีสภาพป่า เป็นพื้นที่เหมาะแก่การเกษตรและไม่เป็นต้นน้ำลำธาร ทั้งไม่เป็นพื้นที่ ที่มีภาระผูกพันของกรมป่าไม้ ไม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเขาซับประดู่ และไม่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ แต่จำเลยที่ ๔ กลับส่งเรื่องหารือกรมที่ดินเพราะเห็นว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายและยังไม่เคยมีแนวปฏิบัติ มาก่อน หลังจากนั้น โจทก์ทั้งหกได้ติดต่อจำเลยทั้งหกเพื่อทราบผลการดำเนินการเรื่อยมา แต่ไม่ได้รับคำตอบ ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้ง ๙แปลงดังกล่าว และให้เพิกถอนคำสั่งห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินทั้ง ๙ แปลงดังกล่าวด้วย ส่วนจำเลยทั้งหกให้การว่า โจทก์ทั้งหกและ ผู้ซึ่งโอนสิทธิในที่ดินทั้ง ๗ แปลงให้แก่โจทก์ทั้งหก นั้น เป็นผู้ไม่มีสิทธิใดๆ ในที่ดินดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะโฉนดที่ดินทั้ง ๗ แปลงดังกล่าวออกทับที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาซับประดู่และ ป่าเขามะกอก ไม่ได้แจ้งการครอบครองตามมาตรา ๕ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ถือว่าสละ สิทธิครอบครอง รัฐจึงมีอำนาจจัดที่ดินได้และกรมป่าไม้ได้ประกาศให้ที่ดินดังกล่าวเป็นป่าสงวนแห่งชาติแล้ว ทั้งการออกโฉนดที่ดินพิพาทไม่ถูกต้องตามระเบียบและขั้นตอนของกฎหมาย ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ดังนั้น แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้จะสืบเนื่องมาจากคำสั่งอายัดห้ามจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินแปลงพิพาทของฝ่ายปกครอง อันเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อทำการตรวจสอบก็ตาม แต่การที่โจทก์ทั้งหกอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตน และขอให้ศาลมีคำสั่งรับรองกรรมสิทธิ์ ในที่ดินพิพาท ทั้งฝ่ายจำเลยทั้งหกก็ให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาซับประดู่และป่าเขามะกอก โฉนดที่ดินพิพาทออกโดยทับที่ป่าสงวนดังกล่าวและไม่ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายนั้น เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้โจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและให้เพิกถอนคำสั่งอายัดที่ดินพิพาทของฝ่ายปกครองตามคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ ความเสียก่อนว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่เป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดี ระหว่าง นายบุญฤทธิ์ เกรียงไกรลิบ ที่ ๑ นายไพศาล ฉัตรเลขวนิช ที่ ๒ นางอรนุช ตันติวรวงศ์ ที่ ๓ นายกวีศักดิ์ ฉัตรเลขวนิช ที่ ๔ นางพัชราตะวันกาญจนโชติ ที่ ๕ และนายศักดา จริยะธนา ที่ ๖ โจทก์ กระทรวงมหาดไทย ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๓ สำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาสีคิ้ว ที่ ๔ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๕ กรมป่าไม้ ที่ ๖ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share