แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
(คำสั่ง) ที่ ๑๘/๒๕๔๙
วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๙
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองสงขลา
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลหนึ่งไม่รับฟ้อง เพราะเหตุว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้วศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๔๘ นายสมัคร กิจค้า โจทก์ได้ยื่นฟ้องนายสถิตย์สวินทร ที่ ๑ กรมป่าไม้ ที่ ๒ นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ ที่ ๓ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ ๔จำเลย ต่อศาลแพ่งเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๓๘๙/๒๕๔๘ ความว่า โจทก์เป็นผู้ได้รับสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนจาก จำเลยที่ ๔ ในโครงการคลองเกาะยางฝั่งตะวันออก (กบ.๗๑) ในท้องที่ตำบลเกาะลันตาน้อย อำเภอ เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ ๓,๓๑๓ ไร่ ระยะเวลา ๑๕ ปีตั้งแต่วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๒๙ ถึงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๔ จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ ๔ มีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำป่าไม้ชายเลนของโจทก์ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขสัมปทาน โดยเงื่อนไขสัมปทานกำหนดแบ่งพื้นที่สัมปทานออกเป็นแปลงย่อยจำนวน ๑๕ แปลง และอนุญาตให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่สัมปทานเพียงปีละ๑แปลง ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนกันยายนของปีถัดไป โจทก์ได้ทำไม้ป่าชายเลนตามข้อกำหนดและเงื่อนไขสัมปทานตลอดมานับแต่วันที่ทำสัญญาสัมปทานจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ๒๕๓๙ อันเป็นวันสิ้นสุดของรอบปีสัมปทานทำไม้ที่ ๑๐ และเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๙ อันเป็นเดือนเริ่มต้นในรอบปีสัมปทานทำไม้ที่ ๑๑ โจทก์นำเงินค่าเปิดป่ารายปีตามเงื่อนไขสัมปทานข้อ ๑๐ ไปชำระที่สำนักงานป่าไม้จังหวัดกระบี่ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ยอมรับชำระ อ้างว่าจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งทางวิทยุในราชการกรมป่าไม้ เลขที่ ท.๒๓/๑๓๖ ให้ยืดระยะเวลารับชำระเงินค่าเปิดป่ารายปีตามเงื่อนไขสัมปทานข้อ ๑๐ จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๙ ต่อมาในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๐ จำเลยที่ ๑ ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยมีคำสั่งทางวิทยุในราชการกรมป่าไม้ที่ ท.๑/๑ ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๐ ให้ป่าไม้จังหวัดกระบี่ขยายเวลารับชำระเงินค่าเปิดป่ารายปีออกไปจนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิกสัมปทาน และให้หัวหน้าหน่วยจัดการป่าชายเลนที่ กบ.๘ (เกาะลันตา) มีคำสั่งให้โจทก์ระงับการทำไม้ป่าชายเลน และไม่ส่งมอบพื้นที่สัมปทานทำไม้ป่าชายเลนให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขสัมปทาน เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถทำไม้ป่าชายเลนได้ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขสัมปทาน และไม่สามารถตัดฟันต้นไม้ป่าชายเลนในพื้นที่สัมปทานนำมาเผาเป็นถ่านเพื่อนำออกขายในท้องตลาด การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจตามข้อกฎหมายในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ และข้อสัญญาสัมปทานที่โจทก์ได้ทำกับจำเลยที่ ๔ เป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์เพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะเรื่องสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการยกเลิกสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนโดยอาศัยอำนาจในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖๘ทวิ แต่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตามกฎหมายให้ยกเลิกสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนตามพระราชบัญญัติป่าไม้และมติคณะรัฐมนตรีไม่ดำเนินการยกเลิกสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี แต่มาดำเนินการมีคำสั่งทางวิทยุในราชการกรมป่าไม้ดังกล่าวเพื่อให้โจทก์หยุดการทำไม้ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขสัมปทาน โดยอ้างข้อสัญญาสัมปทานข้อ ๓๐ ทั้งที่ข้อสัญญาดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ แต่ประการใด หากแต่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓เกรงว่าโจทก์จะขอเวนคืนสัมปทานเพื่อรับเงินชดเชยความเสียหายตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๖๘ อัฏฐ หากมีคำสั่งยกเลิกสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี การกระทำละเมิดต่อโจทก์ของจำเลยที่ ๑ กระทำในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยวันที่จำเลยที่ ๑จะกระทำละเมิดต่อโจทก์โดยมีคำสั่งทางวิทยุในราชการ กรมป่าไม้ดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ได้ขออนุมัติความเห็นชอบจากจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้บังคับบัญชาและมีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำไม้ป่าชายเลนของโจทก์ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขสัมปทาน และจำเลยที่ ๓ ก็ได้อนุมัติเห็นชอบให้จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งทางวิทยุอันเป็นมูลเหตุละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ ๓ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ กระทำละเมิดต่อโจทก์ได้กระทำในฐานะที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๔ ดังนั้นจำเลยที่ ๔ จึงต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโจทก์จากการกระทำของจำเลยที่ ๓ ด้วย ผลของการกระทำละเมิดของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ทำให้โจทก์ได้รับ ความเสียหาย ไม่สามารถเข้าตัดฟันไม้ป่าชายเลนในพื้นที่สัมปทาน ทำให้ขาดรายได้จากการนำไม้ป่าชายเลนในพื้นที่สัมปทานแปลงทำไม้ที่ ๑๑ ถึงแปลงทำไม้ที่ ๑๕ มาเผาถ่านออกขายในท้องตลาดในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นเงินปีละ ๘๐๐,๐๐๐ บาทรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยคิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องอีก ๑,๗๔๐,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายถึงวันฟ้องจำนวน ๕,๗๔๐,๐๐๐ บาท แต่โจทก์ติดใจเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่เพียง ๔๐๐,๐๐๐ บาท แม้เหตุละเมิดจะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๐ และโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสี่ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เกินกว่า ๑ ปีนับแต่เกิดเหตุละเมิดก็ไม่ขาดอายุความ เพราะโจทก์เพิ่งทราบว่าคำสั่งระงับการทำไม้ป่าชายเลนของจำเลยที่ ๑ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการละเมิดต่อโจทก์เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๘ การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิทางกฎหมายภายในกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ วรรคแรก และโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๗๐๒/๒๕๔๘ ต่อศาลจังหวัดกระบี่ คดีอยู่ระหว่างพิจารณา คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จึงต้องนับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๔๘ วรรคสองด้วย กรณีพิพาทในคดีนี้ไม่ใช่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างว่า มีอำนาจตามข้อสัญญาสัมปทานข้อ ๓๐ และให้ระงับการทำไม้ป่าชายเลนตามเงื่อนไขสัมปทาน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม และมูลละเมิดอันเกิดเป็นข้อพิพาทในคดีนี้โจทก์ได้เคยนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งที่ ๕๔๙/๒๕๔๖ ว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของ ศาลปกครอง โจทก์จึงนำมาฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า การที่จำเลยที่ ๑ ในฐานะอธิบดี กรมป่าไม้ผู้แทนของจำเลยที่ ๒ ซึ่งได้รับมอบอำนาจตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนจากจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๔ แจ้งทางวิทยุให้ยืดระยะเวลาชำระเงินและระงับการทำไม้ไว้ก่อน เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามมติคณะรัฐมนตรี และได้รับอนุมัติจากจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ ๔ ผู้ให้สัมปทาน อันเป็นการใช้สิทธิตามเงื่อนไขสัมปทานข้อ ๓๐ ในการเพิ่มหรือลดข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในสัมปทานได้ตามความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของรัฐ เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของรัฐเพราะป่าไม้ชายเลนถูกทำลายเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาชายทะเลของชาติคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ให้ยกเลิกสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนทั้งหมด คำสั่งทางวิทยุในราชการกรมป่าไม้เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๐ ของจำเลยที่ ๑ โดยได้รับอนุมัติจากจำเลยที่ ๓ ผู้แทนของจำเลยที่ ๔ ผู้ให้สัมปทานเป็นการใช้สิทธิของผู้ให้สัมปทานตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งยังปรากฏว่าเคยมีคดีที่นายดำเกิงหรือโสพรรณ ผลิภัทร ผู้รับสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนรายหนึ่งเป็นโจทก์นำคดีไปฟ้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อศาลจังหวัดกระบี่ ซึ่งศาลจังหวัดกระบี่มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่รับฟ้องเป็นไม่รับฟ้อง โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา ซึ่งศาลฎีกาพิพากษายืน ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๓๔๔/๒๕๔๘ โดยวินิจฉัยว่าเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ การที่จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งทางวิทยุในราชการกรมป่าไม้แทนจำเลยที่ ๔ ในฐานะผู้ให้สัมปทานโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาสัมปทานข้อ๓๐ ซึ่งคู่สัญญามีอำนาจกระทำได้ การกระทำของจำเลยที่ ๑ จึงไม่เป็น การละเมิดต่อโจทก์ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒
โจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่า ก่อนมีการจัดตั้งศาลปกครอง สิทธิในการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมกรณีผิดสัญญาสัมปทานมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ แต่เมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นมาพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๕๑ บัญญัติให้การฟ้องคดีปกครองต้องฟ้องภายใน ๑ ปี นับแต่วันรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี กรณีผิดสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนวันรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่ง การฟ้องคดีคือวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๐ แต่ศาลปกครองกลางเปิดทำการในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ จึงทำให้คดีผิดสัญญาสัมปทานป่าไม้ชายเลนทุกคดีขาดอายุความที่จะฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยเมื่อนำคดีไปฟ้องยังศาลปกครองก็จะได้รับการวินิจฉัยว่าคดีขาดอายุความ หากนำคดีไปฟ้องยังศาลยุติธรรม ก็จะได้รับคำวินิจฉัยว่าเป็นคดีผิดสัญญาสัมปทานอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ข้อพิพาทในประเด็นผิดสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนจึงเยียวยาเฉพาะผู้รับสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนที่ฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมก่อนศาลปกครองเปิดทำการเท่านั้น โจทก์จึงเลือกฟ้องจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ ให้รับผิดฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ และฟ้องจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๔ ให้รับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๖ ต่อ ศาลยุติธรรม เนื่องจากโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ ๒ ต่อศาลปกครองสงขลาโดยศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาและศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืน
อนึ่ง ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๒ ต่อศาลปกครองสงขลาเป็น คดีหมายเลขดำที่ ๒๖๒/๒๕๔๕ หมายเลขแดงที่ ๖๖/๒๕๔๖ ว่าคำสั่งของอธิบดีกรมป่าไม้ที่ให้ระงับการทำไม้ป่าชายเลนตามคำสั่งทางวิทยุในราชการกรมป่าไม้ ที่ ท. ๑/๑ ลงวันที่ ๑๐มกราคม ๒๕๔๐ เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ศาลมีคำบังคับให้จำเลยที่ ๒ ในฐานะหน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ศาลปกครองสงขลามีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาโดยเห็นว่า การกระทำของอธิบดีกรมป่าไม้ในการออกคำสั่งให้ระงับการทำไม้ป่าชายเลนตามคำสั่งทางวิทยุในราชการกรมป่าไม้ ที่ ท. ๑/๑ ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๐ นั้นเป็นการใช้สิทธิของผู้ให้สัมปทานตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน หากผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากการถูกระงับการทำไม้ตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน ก็จะต้องเรียกร้องค่าเสียหายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะคู่สัญญาสัมปทาน มิใช่เรียกร้องจากผู้ถูกฟ้องคดี (จำเลยที่ ๒) ดังนั้นการที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าคำสั่งของอธิบดีกรมป่าไม้ที่ให้ระงับการทำไม้ป่าชายเลนตามคำสั่งทางวิทยุในราชการกรมป่าไม้ ที่ ท. ๑/๑ ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๐เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดี (จำเลยที่ ๒) ในฐานะหน่วยงานของรัฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทน จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นตามมาตรา ๙วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ และหากผู้ฟ้องคดีประสงค์จะฟ้องว่าการกระทำของอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นการผิดสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน ฉบับที่ ๑๖๒/๒๕๒๙ ซึ่งมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันเข้าเกณฑ์ลักษณะเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ต้องยื่นฟ้องภายในหนึ่งปีนับแต่วันรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดีตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันเมื่อผู้ฟ้องคดีได้ทราบคำสั่งทางวิทยุในราชการกรมป่าไม้เมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์๒๕๔๐ ผู้ฟ้องคดีอาจบอกเลิกสัญญาและฟ้องกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ผู้ให้สัมปทานต่อศาลได้ภายในกำหนดสิบปี แต่โดยเหตุที่เหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดขึ้นก่อนศาลปกครองเปิดทำการและผู้ฟ้องคดีมิได้นำคดีไปฟ้องต่อศาลยุติธรรมซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีในขณะนั้น เมื่อศาลปกครองเปิดทำการในวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองอันเป็นการพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงให้อายุความในการฟ้องคดีเริ่มนับตั้งวันที่ศาลปกครองเริ่มเปิดทำการ ตามนัยคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๕๔/๒๕๔๕ ดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนเมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๔๕ จึงเป็นการยื่นฟ้องเกินกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๔ โจทก์ยื่นอุทธรณ์เฉพาะข้อหาว่าการกระทำของอธิบดีกรมป่าไม้เป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครอง ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองสงขลา
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งทางวิทยุในราชการกรมป่าไม้ที่ ท.๑/๑ ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๐ ให้ป่าไม้จังหวัดกระบี่ขยายระยะเวลารับชำระเงินค่าเปิดป่ารายปีตามเงื่อนไขสัมปทานข้อ ๑๐ ออกไปจนกว่าจะมีคำสั่งยกเลิกสัมปทาน และให้หัวหน้าหน่วยจัดการ ป่าชายเลนที่ กบ.๘ (เกาะลันตา) มีคำสั่งให้โจทก์ระงับการทำไม้ป่า ชายเลน และไม่ส่งมอบพื้นที่สัมปทานทำไม้ป่าชายเลนให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ตามข้อกำหนดเงื่อนไขสัมปทาน โดยรับอนุมัติจากจำเลยที่ ๓ ผู้แทนของจำเลยที่ ๔ ผู้ให้สัมปทาน เป็นการใช้สิทธิของผู้ให้สัมปทานตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลนซึ่งเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลหรือไม่
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใดถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหารหรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปยังศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็วในกรณีเช่นว่านี้ให้ศาลที่เกี่ยวข้องดำเนินการ…” มาตรา ๑๒ วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด แต่ศาลนั้นไม่รับฟ้องเพราะเหตุว่าคดีดังกล่าว อยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้วหากศาลดังกล่าวเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจเช่นกัน ให้ศาลนั้นส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัย โดยให้นำความในมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) และมาตรา ๑๑ มาใช้บังคับโดยอนุโลม” และข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัย ชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ บัญญัติว่า “ในกรณีดังต่อไปนี้ คณะกรรมการจะสั่งให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความก็ได้ (๒) การส่งเรื่องให้คณะกรรมการมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชบัญญัตินี้กำหนดไว้” ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ได้ยื่นฟ้องกรมป่าไม้ จำเลยที่ ๒ ต่อศาลปกครองสงขลาว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์ โดยอ้างว่าอธิบดีกรมป่าไม้ ผู้แทนของจำเลยที่ ๒ ออกคำสั่งให้โจทก์ระงับการทำไม้ป่าชายเลนตามคำสั่งทางวิทยุในราชการกรมป่าไม้ ที่ ท. ๑/๑ ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๐ ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ศาลปกครองสงขลามีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณาโดยเห็นว่า การกระทำของอธิบดีกรมป่าไม้ในการออกคำสั่งให้ระงับการทำไม้ป่าชายเลนดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิของผู้ให้สัมปทานตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน หากโจทก์ได้รับความเสียหายก็จะต้องเรียกร้องค่าเสียหายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะคู่สัญญาสัมปทาน จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่นตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และหากเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง คดีโจทก์ก็ขาดอายุความ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ว่าการกระทำของอธิบดีกรมป่าไม้เป็นการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยืนตามศาลปกครองสงขลาว่า มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น โจทก์จึงมายื่นฟ้องเป็นคดีนี้ต่อศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ในมูลละเมิดอันเกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ ๒ ทำละเมิดต่อโจทก์อันเป็นข้อหาเดียวกันกับที่ฟ้องยังศาลปกครองสงขลา จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ศาลแพ่งเห็นว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง จึงส่งความเห็นมายังคณะกรรมการ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดต่อศาลปกครองสงขลาอันเป็นข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันกับคดีนี้ และศาลปกครองสงขลาเพียงแต่วินิจฉัยว่าการกระทำของอธิบดีกรมป่าไม้ในการออกคำสั่งให้ระงับการทำไม้ป่าชายเลนดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิของผู้ให้สัมปทานตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน หากโจทก์ได้รับ ความเสียหายก็จะต้องเรียกร้องค่าเสียหายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะคู่สัญญาสัมปทาน หรือหากโจทก์ฟ้องว่าอธิบดีกรมป่าไม้กระทำผิดสัญญาสัมปทานก็เข้าหลักเกณฑ์ของข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองซึ่งคดีขาดอายุความแล้ว ศาลปกครองสงขลาไม่อาจรับฟ้องได้เช่นกัน เห็นได้ว่า ศาลปกครองสงขลายังไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาเรื่องเขตอำนาจศาลในการรับฟ้องคดีแต่อย่างใด กรณีจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.๒๕๔๒มาตรา ๑๒ วรรคสอง ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีที่มีข้อเท็จจริงเป็นเรื่องเดียวกันมาฟ้องจำเลยทั้งสี่ต่อศาลแพ่ง โดยจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ศาลแพ่งจึงชอบที่จะทำความเห็นเรื่องเขตอำนาจศาลแล้วจัดส่งไปยังศาลปกครองสงขลาเพื่อทำความเห็นต่อไป ตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๑๙การที่ศาลแพ่งจัดทำความเห็นส่งมายังคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องเขตอำนาจศาล โดยที่ยังไม่ได้จัดส่งให้ศาลปกครองซึ่งเป็นศาลที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจจัดทำความเห็นก่อนนั้น จึงเป็นการส่งเรื่องต่อคณะกรรมการโดยมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒กำหนดไว้ ไม่ชอบด้วยมาตรา ๑๐ แห่งพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการย่อมมีอำนาจสั่งให้จำหน่ายเรื่องออกจาก สารบบความได้ ตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ๒๙(๒)
จึงมีคำสั่งว่า การส่งเรื่องของศาลแพ่งคดีนี้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ อาศัยอำนาจตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๒๙ (๒) ให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความ
(ลงชื่อ) ชาญชัย ลิขิตจิตถะ (ลงชื่อ) วิชัย วิวิตเสวี
(นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ) (นายวิชัย วิวิตเสวี)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) อัครวิทย์ สุมาวงศ์
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท สายัณห์ อรรถเกษม (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(สายัณห์ อรรถเกษม) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน
๘