คำวินิจฉัยที่ 19/2546

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๙/๒๕๔๖

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒)

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสิงห์บุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล

ข้อเท็จจริงในคดี
ศาลปกครองกลางได้รับโอนเรื่องร้องทุกข์ของนางสิรี ทรัพย์มาก ซึ่งยื่นเรื่องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีและนางกิม บัวคลี่ เป็นเจ้าของที่ดินร่วมกันตามแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เลขที่ ๔ หมู่ ๑ ตำบลหัวป่า อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เนื้อที่ประมาณ ๒ – ๐ – ๑๒ ไร่ ซึ่งได้รับมรดกและครอบครองต่อจากนายบู่ สีกลิ่นดี บิดา เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๓ ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรี ผู้ถูกฟ้องคดี ได้รับคำขอไว้พร้อมทั้งสั่งให้ช่างรังวัดแผนที่ออกไปทำการรังวัด ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งว่า ตามที่ผู้ฟ้องคดีได้ขอรังวัดออกโฉนดที่ดินนั้น ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของวัดตาโค้ (ร้าง) ซึ่งนายบู่ กับพวก ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินไว้กับกรมการศาสนา จึงไม่อาจดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ และได้มีหนังสือแจ้งยกเลิกคำขอออกโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว หากประสงค์จะคัดค้านประการใด ให้ดำเนินการภายใน ๓๐ วัน หลังจากนั้น กรมการศาสนาได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินวัดตาโค้ (ร้าง) และเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีได้มีคำสั่งที่ ๕/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ ให้ออกโฉนดที่ดินพิพาทแก่วัดตาโค้ (ร้าง) ซึ่งการออกคำสั่งดังกล่าวนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้ตรวจสอบหลักฐานให้รอบคอบ ละเลยต่อหน้าที่ ทำให้ผู้ฟ้องคดีไม่ได้รับความเป็นธรรม ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว
ศาลปกครองกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำฟ้องในคดีนี้เป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งต้องวินิจฉัยว่าระหว่างผู้ขอออกโฉนดที่ดินกับผู้คัดค้าน ผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากันตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๔/๒๕๔๕ คำฟ้องนี้จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองกลาง ตามมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยศาลปกครองกลางได้ส่งความเห็นนี้ให้คู่กรณีทราบเพื่อทำความเห็นแล้วปรากฏว่า ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือลงวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕ โต้แย้งเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลเรื่องนี้ว่า คำฟ้องคดีนี้ควรอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองกลาง เพราะต้องการฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีที่ออกโดยไม่ชอบ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามแบบขั้นตอนหรือวิธีการที่กฎหมายกำหนดและขัดต่อกฎหมายตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ทำความเห็นมาแต่อย่างใด
ศาลจังหวัดสิงห์บุรีพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้ฟ้องคดี คือต้องการให้มีการวินิจฉัยเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรี ที่ได้ออกโฉนดที่ดินให้แก่วัดตาโค้ (ร้าง) เนื่องจากเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีทำการไต่สวนหรือสอบสวนไม่ถูกต้อง หรือไม่รอบคอบ และไม่เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดกรณีพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีโดยตรง มิได้พิพาทกับวัดตาโค้ (ร้าง) อันจะต้องมีคำวินิจฉัยว่าระหว่างผู้ฟ้องคดีกับวัดตาโค้ (ร้าง) ใครมีสิทธิในที่ดินดีกว่ากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดิน เช่นนี้จึงมิใช่กรณีเดียวกับแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๔/๒๕๔๕ แต่อย่างใด แต่กลับเป็นเรื่องที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อนจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐที่ปฏิบัติไม่ชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมาย จึงเป็นคดีซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ คดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งออกโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดและไม่ชอบด้วยกฎหมาย อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรี ผู้ถูกฟ้องคดี ออกคำสั่งที่ ๕/๒๕๔๑ ให้ออกโฉนดที่ดินแก่วัดตาโค้ (ร้าง) โดยไม่ตรวจสอบพยานหลักฐานให้รอบคอบเสียก่อนที่จะออกคำสั่ง ละเลยต่อหน้าที่ ขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวนี้เสีย เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และออกคำสั่งโดยให้ออกโฉนดที่ดินแก่วัด ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียสิทธิในที่ดิน คำสั่งพิพาทจึงมีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง สถานภาพของสิทธิหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีจะออกคำสั่งได้นั้น จำต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่พระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนี้กำหนดไว้ ดังนั้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๒) อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานที่ดิน ซึ่งออกโดยไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ระหว่างนางสิรี ทรัพย์มาก ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรี ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง

(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) โภคิน พลกุล
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท อัฎฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฎฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share