แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๘/๒๕๔๖
วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๖
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลจังหวัดขอนแก่น
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองขอนแก่นส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคสอง ซึ่งเป็นกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลหนึ่ง แต่ศาลนั้นไม่รับฟ้องเพราะเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง เมื่อมีการฟ้องคดีต่ออีกศาลหนึ่งแล้ว ศาลเห็นว่าคดีนั้นไม่อยู่ในเขตอำนาจของตนเช่นกัน
ข้อเท็จจริงในคดี
นายบุญมี ศรีวิสุทธิ์ เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสิงห์ ชาวเหนือ ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น ที่ ๒ เป็นจำเลย ต่อศาลจังหวัดขอนแก่นว่า ตนเป็นเจ้าของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๘๕ หมู่ ๑ ตำบลบ้านฝาง อำเภอกระนวน (น้ำพอง) จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ประมาณ ๑๒ – ๑ – ๓๕ ไร่ ซึ่งได้ครอบครองต่อจากนางอ่อน ภรรยา ที่ได้รับการให้มาจากนายลุน ชาวเหนือ เป็นระยะเวลานานกว่า ๓๐ ปี เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำขอรังวัดออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก) โดยนำแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) เลขที่ ๘๕ ตำบลบ้านฝาง อำเภอกระนวน (น้ำพอง) จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ประมาณ ๑๖ – ๐ – ๘๐ ไร่ โดยอ้างว่าได้รับมรดกจากนายลุน ชาวเหนือ บิดา โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว จำเลยที่ ๒ ได้สอบสวนและแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยที่ ๑ มีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) จึงเห็นสมควรออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ ๑ หากโจทก์ไม่เห็นด้วยให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลภายใน ๖๐ วัน โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ ๒ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก) ของจำเลยที่ ๑ ตามคำขอฉบับที่ ๑๓๑/๑๘/๔๓ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๒ และให้จำเลยที่ ๒ ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่โจทก์
ศาลจังหวัดขอนแก่นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จำเลยที่ ๑ มีสิทธิยื่นได้ตามกฎหมาย จึงไม่อาจบังคับได้ ส่วนจำเลยที่ ๒ เป็นกรณีที่อ้างว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งหรือกระทำการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ มูลกรณีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลที่มีอำนาจต่อไป ไม่รับฟ้อง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้แก่โจทก์
นายบุญมีฯ ยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น สาขากระนวน ต่อศาลปกครองขอนแก่น ศาลปกครองขอนแก่นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า นายสิงห์ ชาวเหนือ ได้นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. ๑) เลขที่ ๘๕ หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านฝาง อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ไปยื่นคำขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก) ต่อผู้ถูกฟ้องคดี โดยไม่มีสิทธิ เนื่องจากเป็นการนำแบบแจ้งการครองครองที่ดิน (ส.ค. ๑) ไปสวมครอบและทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่ได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อจากภรรยา ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นคำคัดค้านต่อผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีสอบสวนและพิจารณาโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว จึงออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก) ให้แก่นายสิงห์ ชาวเหนือ ตามมาตรา ๕๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีไปใช้สิทธิทางศาลภายในกำหนด ๖๐ วัน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่า คำสั่งดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี จึงขอให้ศาลพิพากษาดังกล่าวข้างต้น เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีจะฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอของผู้ฟ้องคดีนั้น ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นสิทธิของบุคคลใด ดังนั้น มูลกรณีพิพาทคดีนี้จึงเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๔/๒๕๔๕ คดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คือ การพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของเอกชนตามประมวลกฎหมายที่ดินอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ แม้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่นายสิงห์ ชาวเหนือ และแจ้งผู้ฟ้องคดีว่าหากไม่พอใจให้ฟ้องหรือร้องต่อศาลภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันที่ทราบคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การจะ พิจารณาว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาได้ความว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นหลักเสียก่อน
การพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิครอบครองในที่ดินซึ่งเป็นสิทธิในทรัพย์สิน จะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน มาตรา ๑๒๙๘ ที่บัญญัติว่า “ทรัพยสิทธิทั้งหลายนั้น ท่านว่าจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น”
บทบัญญัติในมาตรา ๑๒๙๘ กำหนดให้การพิจารณาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ว่าผู้ใดมีสิทธิดีกว่ากัน นอกจากจะอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ยังต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายอื่นที่บัญญัติในเรื่องนั้นไว้เป็นพิเศษประกอบด้วย โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่กรณี ซึ่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ มิได้กำหนดให้ศาลปกครองมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในทรัพย์สิน ดังนั้น เมื่อเป็นการโต้แย้งคัดค้านการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินของเอกชนซึ่งศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินได้แก่ศาลยุติธรรม คดีนี้จึงอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๔/๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีที่นายบุญมี ศรีวิสุทธิ์ ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลจังหวัดขอนแก่น
(ลงชื่อ) อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ (ลงชื่อ) เฉลิมชัย เกษมสันต์
(นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ) (หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) โภคิน พลกุล
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายโภคิน พลกุล)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท อัฎฐพร เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(อัฎฐพร เจริญพานิช) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ