แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่อดีตครูโรงเรียนเอกชนยื่นฟ้องโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษาที่ตนสังกัดกรณีถูกถอดถอนจากหน้าที่ครู ต่อศาลแรงงานกลางอ้างว่า ถูกเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรม ขอให้ชดใช้เงินตามกฎหมาย และต่อมาได้นำคดีไปยื่นฟ้องโรงเรียนต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนหนังสือถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากหน้าที่ครู คืนสิทธิต่าง ๆ ที่ได้รับก่อนการถอดถอน เป็นกรณีที่นำคดีซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเรื่องเดียวกันฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจแตกต่างกันตั้งแต่สองศาลขึ้นไป ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ วรรคหนึ่ง มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าข้อพิพาทตามคำฟ้องทั้งสองสำนวนนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลใด เห็นว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์หรือผู้ฟ้องคดีกับจำเลยหรือผู้ถูกฟ้องคดีในการจัดทำสัญญาจ้างโจทก์หรือผู้ฟ้องคดีเป็นครูผู้สอน มิได้เกิดจากการใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองตามที่ได้รับมอบหมายจากรัฐ การกระทำของจำเลยหรือผู้ถูกฟ้องคดีในการทำสัญญาดังกล่าว จึงไม่ทำให้ตนมีฐานะเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง อันจะถือว่าเป็นหน่วยงานทางปกครอง สัญญาจ้างครูผู้สอนในคดีนี้จึงไม่ครบองค์ประกอบของสัญญาทางปกครอง ตามบทนิยามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทเกี่ยวกับการเลิกจ้างนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นนิติสัมพันธ์ที่โจทก์หรือผู้ฟ้องคดีตกลงจะทำงานให้จำเลยหรือผู้ถูกฟ้องคดีและจำเลยหรือผู้ถูกฟ้องคดีตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ สัญญาพิพาทจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ และคู่สัญญา จึงอยู่ในฐานะลูกจ้างนายจ้างตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อคดีของศาลแรงงานกลางโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าจ้าง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าเสียหายจากการเลิกจ้าง ไม่เป็นธรรม เงินสะสม เพื่อการเลี้ยงชีพครู เงินโบนัส ค่าสอนพิเศษ ส่วนคดีของศาลปกครองกลาง โจทก์หรือผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้ได้รับสิทธิ เงินเดือน และเงินพิเศษ ตั้งแต่วันถอดถอนถึงปัจจุบัน ก็ล้วนเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหาย ค่าชดเชย เงินเดือน อันเนื่องมาจากสัญญาจ้างพิพาท แม้ในคดีของศาลปกครองกลางผู้ฟ้องคดีจะมีคำขอให้เพิกถอนหนังสือถอดถอนออกจากหน้าที่ครูด้วย ก็เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นว่าจำเลยหรือผู้ถูกฟ้องคดีเลิกจ้างโจทก์หรือผู้ฟ้องคดีโดยชอบหรือไม่ อันเป็นข้อพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๑) ซึ่งเป็นคดีแรงงานที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม ดังนั้น คดีทั้งสองสำนวนจึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม