คำวินิจฉัยที่ 18/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครองว่า ผู้ฟ้องคดีได้สร้างบ้านเรือนและทำประโยชน์บนที่ดินพิพาทที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ต่อมาจึงไปขอออกโฉนดที่ดินแต่ทางราชการไม่ออกให้โดยอ้างว่าที่พิพาทเป็นที่ราชพัสดุ เพราะก่อนหน้านั้นจังหวัดลำพูนได้สำรวจที่ดินที่ราษฎรยกให้เพื่อส่งกรมธนารักษ์ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแต่ยังไม่มีการขอออกเอกสารสิทธิ์เป็นที่ราชพัสดุ ต่อมาสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ลำพูนได้ขอออกโฉนดที่ดินที่ขึ้นทะเบียนไว้เป็นที่ราชพัสดุ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินโดยปราศจากหลักฐานและมิได้แจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) จึงมีสิทธิ์เพียงขอเลขที่บ้านแต่ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เมื่อสำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนทำการสอบสวนเปรียบเทียบแล้วใช้ดุลพินิจสั่งการจนมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่กระทรวงการคลังตามระเบียบของกรมที่ดิน การที่ต่อมาผู้ฟ้องคดียอมเข้าทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ราชพัสดุเพื่อการเกษตรกับกระทรวงการคลังดังกล่าวย่อมถือได้ว่า ยอมรับข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุจริง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีที่ใช้สิทธิทางศาลขอให้เพิกถอนคำสั่งออกโฉนดที่ดินและให้ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ ส่วนการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะปฏิบัติตามคำขอได้ต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้าง หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ใดมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๘/๒๕๕๗

วันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองเชียงใหม่
ระหว่าง
ศาลจังหวัดลำพูน

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองเชียงใหม่โดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๕ นายศรีฑูรย์ แสนเตจ๊ะ ที่ ๑ กับพวกรวม ๑๑ คน ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน ที่ ๑ กระทรวงการคลัง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๙/๒๕๕๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิโดยสร้างบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัยและทำประโยชน์บนที่ดินซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลหนองหนาม อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน ติดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๒ ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดได้มีหนังสือถึงนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอให้ออกเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าว ซึ่งได้มีการรับเรื่องและสั่งการไปยังกรมที่ดินเพื่อดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงและดำเนินการตรวจสอบที่ดินพิพาท ปรากฏว่าไม่พบเรื่องการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้มีประกาศ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๓ เรื่องออกโฉนดที่ดินรายกระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดจึงคัดค้านการออกโฉนดดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้พิจารณาดำเนินการสอบสวนเปรียบเทียบตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินและมีคำสั่งที่ ๘/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕ พร้อมทั้งมีหนังสือแจ้งผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดให้ทราบว่าที่ดินพิพาทกรมธนารักษ์ได้ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแล้วและเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามมาตรา ๔ และมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยผู้ฟ้องคดีไม่สามารถนำเอกสารที่ทางราชการออกให้มาพิสูจน์ว่าเป็นเจ้าของที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ หรือหาพยานบุคคลอื่นใดที่จะสนับสนุนเหตุผลการคัดค้าน จึงเห็นควรดำเนินการออกโฉนดที่ดินให้แก่กระทรวงการคลังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ต่อไป ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดเห็นว่า ได้มีการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมาเป็นเวลานานก่อนวันที่ขึ้นทะเบียนราชพัสดุ หรือประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยแสดงทะเบียนบ้านเป็นเอกสารหลักฐานการปลูกบ้านบนที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทดังกล่าวทางราชการมีการสำรวจรังวัดทำแผนที่หรือสอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดิน และแสดงแนวเขตการครอบครองของเจ้าของที่ดินแต่ละแปลงไว้อย่างชัดเจน จึงย่อมเห็นได้ว่ามีราษฎรจับจองทำประโยชน์ แต่ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านประการใดกลับประกาศให้ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินให้แก่กระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นการกระทำที่มิชอบทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมทั้งออกเอกสารสิทธิรับรองสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ด
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า ประมาณปี ๒๕๑๓ จังหวัดลำพูนทำการสำรวจที่ดินซึ่งราษฎรยกให้ทางราชการ เพื่อนำส่งขึ้นทะเบียนราชพัสดุโดยปฏิบัติตามระเบียบและกรมธนารักษ์ได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุแล้ว ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดมิได้แจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) จึงไม่มีหลักฐานยืนยันการครอบครองที่ดิน แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินและอยู่อาศัยมานานก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท การขอทะเบียนบ้านเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ เมื่อมีบ้านที่ปลูกสร้างบนที่ดินสามารถขอเลขที่บ้านได้แต่ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ราชพัสดุและกระทรวงการคลังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ลำพูนได้ขอออกโฉนดที่ดินที่ราชพัสดุตามมาตรา ๕๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดกับพวกได้คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดินโดยอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งปราศจากหลักฐานยืนยัน เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงทำการสอบสวนเปรียบเทียบและเสนอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนเป็นผู้พิจารณาใช้ดุลพินิจสั่งการมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่กระทรวงการคลังตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน โดยได้ปฏิบัติตามระเบียบของกรมที่ดิน ในระหว่างปี ๒๕๑๗ ได้จัดให้ราษฎรเช่าที่ดินพิพาทและเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดได้ทำสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อการเกษตรกับกระทรวงการคลังโดยธนารักษ์พื้นที่ลำพูน ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดได้ยอมรับข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุจริง ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองเชียงใหม่พิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้ฟ้องคดีตั้งบ้านเรือนอยู่ในที่ดินพิพาทก่อนการขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดคัดค้านการออกโฉนดที่ดินให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอให้เพิกถอนคำสั่งสอบสวนเปรียบเทียบ ที่ ๘/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕ เรื่อง ให้ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดประสงค์จะฟ้องให้เพิกถอนคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองการขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้การเพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ต้องพิจารณาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ราชพัสดุอันนำไปสู่การวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีว่าคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม เป็นเพียงการวินิจฉัยปัญหาหรือประเด็นต่างๆ ในคดีซึ่งศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาข้อหาหลักในคดีย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในการวินิจฉัยปัญหาหรือประเด็นต่าง ๆ ได้ ไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีไว้โดยเฉพาะศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ และการดูแลรักษาที่ราชพัสดุหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎหมายของรัฐที่มีอยู่เหนือเอกชน ซึ่งต่างจากการที่เอกชนอ้างกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเพื่อจัดการที่ดินของตน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดลำพูนพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดฟ้องว่าสร้างโรงเรือนอยู่อาศัยและทำประโยชน์บนที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ขอให้ทางราชการออกเอกสารสิทธิแต่ไม่สามารถออกได้เพราะเป็นที่ราชพัสดุ ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดมีหนังสือถึงรัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย และกรมที่ดินสั่งสอบข้อเท็จจริง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตรวจสอบที่ดินพิพาทไม่พบเรื่องการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีประกาศออกโฉนดที่ดินรายกระทรวงการคลังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดคัดค้านการออกโฉนด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สอบสวนตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว มีหนังสือสำนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนแจ้งว่าที่ดินแปลงนี้กรมธนารักษ์ขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแล้วเห็นควรออกโฉนดให้แก่กระทรวงการคลังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ขอให้ศาลสั่งว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาทและให้ผู้ถูกฟ้องคดีออกเอกสารสิทธิให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุยังไม่ได้ออกโฉนดที่ดินโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดได้นั้น ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดหรือเป็นที่ราชพัสดุของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ตามที่โต้แย้งกันไว้เป็นสำคัญแล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดเป็นเอกชนยื่นฟ้อง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และที่ ๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยและทำประโยชน์บนที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินแต่ทางราชการไม่ออกเอกสารสิทธิให้โดยอ้างว่าเป็นที่ราชพัสดุจึงออกโฉนดที่ดินให้แก่กระทรวงการคลังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ที่ดินพิพาทดังกล่าวมีการทำระวางแผนที่แสดงแนวเขตการครอบครองการสำรวจรังวัดทำแผนที่หรือสอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินย่อมเห็นว่ามีราษฎรจับจองทำประโยชน์ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมทั้งออกเอกสารสิทธิรับรองสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ด ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองให้การว่า จังหวัดลำพูนทำการสำรวจที่ดินซึ่งราษฎรยกให้และนำส่งขึ้นทะเบียนราชพัสดุโดยปฏิบัติตามระเบียบและกรมธนารักษ์ได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุแต่ยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิ ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดมิได้แจ้งการครอบครอง (ส.ค. ๑) สามารถขอเลขที่บ้านได้แต่ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท สำนักงานธนารักษ์พื้นที่ลำพูนได้ขอออกโฉนดที่ดินที่ราชพัสดุ ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดอ้างว่าเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินซึ่งปราศจากหลักฐานยืนยัน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงทำการสอบสวนเปรียบเทียบและเสนอให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูนเป็นผู้พิจารณาใช้ดุลพินิจสั่งการมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่กระทรวงการคลังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยได้ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบของกรมที่ดิน ผู้ฟ้องคดีได้ทำสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อการเกษตรกับกระทรวงการคลังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ โดยธนารักษ์พื้นที่ลำพูน ถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดได้ยอมรับข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุจริง ขอให้ยกฟ้อง เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดที่ใช้สิทธิทางศาลที่ขอให้เพิกถอน คำสั่งออกโฉนดที่ดิน และให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพร้อมทั้งออกเอกสารสิทธิรับรองสิทธิในที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ด ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ ส่วนการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก็เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้มีสิทธิในที่ดินที่แท้จริงได้รับการรับรองคุ้มครองตามกฎหมาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะปฏิบัติตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดได้ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติ ศาลจึงจำต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบเอ็ดตามที่กล่าวอ้าง หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ผู้ใดมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายศรีฑูรย์ แสนเตจ๊ะ ที่ ๑ กับพวกรวม ๑๑ คน ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลำพูน ที่ ๑ กระทรวงการคลัง ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share