คำวินิจฉัยที่ 18/2552

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๘/๒๕๕๒

วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๒

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลแขวงอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองนครราชสีมา

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแขวงอุบลราชธานีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๐ นางทองคำ สุทธิธนานนท์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอินทร์ บุญประจง โจทก์ ยื่นฟ้อง นางถนอม ทวีวรรณ ที่ ๑ นางจันหอม วิเศษหวาน ที่ ๒ นายเด่นชัย ทวีวรรณ ที่ ๓ จำเลย เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๙๗/๒๕๕๐ ความว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ข.) เลขที่ ๑๗๙ ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ ๑๘ ไร่ ซึ่งทางราชการออกเอกสารสิทธิให้เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๙ ซึ่งโจทก์ได้ที่ดินมาโดยการครอบครองในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอินทร์ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ โจทก์นำเจ้าพนักงานรังวัดที่ดินแปลงดังกล่าว แต่พบว่าทางราชการได้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) แปลงที่ ๘ ถึง ๑๐ กลุ่มที่ ๑๗๑๘ ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ให้แก่จำเลยทั้งสามเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๙ ทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ข. ของโจทก์ทั้งหมด โจทก์คัดค้านการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ของจำเลยทั้งสามแล้ว แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ ข. เลขที่ ๑๗๙ ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ ๑๘ ไร่ และขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ของจำเลยทั้งสามในส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง คำฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และที่ดินพิพาทจำเลยทั้งสามได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์สืบเนื่องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ซึ่งจำเลยทั้งสามเพียงครอบครองทำกินอย่างเจ้าของมานานจนเข้าหลักเกณฑ์ที่จะยื่นขอให้ออกเอกสารดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินฯ ไม่ใช่จำเลย และจะต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครอง มิใช่ศาลยุติธรรม เทียบได้กับคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๓๖/๒๕๔๗ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
ศาลแขวงอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๙ ทางราชการได้ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่จำเลยทั้งสาม โดยออกทับซ้อนกับที่ดินตาม น.ส. ๓ ข. ของโจทก์ทั้งแปลง จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินแปลงที่ทางราชการออกให้แก่จำเลยทั้งสามนั้นเป็นที่ดินแปลงที่จำเลยทั้งสามเข้าครอบครองและทำประโยชน์สืบเนื่องมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนเข้าหลักเกณฑ์ที่จะนำไปยื่นเพื่อขอออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ได้ ต่อมาทางราชการได้ออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่จำเลยทั้งสาม ดังนั้น ในการจะพิจารณาว่าการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ของทางราชการให้แก่จำเลยทั้งสามทับซ้อนที่ดินของโจทก์หรือไม่ จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติก่อนว่าโจทก์หรือจำเลยทั้งสามเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเสียก่อน ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นสำคัญในข้อหาแห่งคดี ในการวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวนั้นในชั้นนี้ยังไม่เกี่ยวกับการกระทำทางปกครอง ดังนั้นคดีนี้ จึงอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาเห็นว่า สิทธิของโจทก์ตาม น.ส. ๓ ข. และสิทธิของจำเลยทั้งสามตาม ส.ป.ก. ๔-๐๑ เป็นสิทธิที่ต่างกัน คือสิทธิของโจทก์เป็นสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๓ ส่วนเอกสาร ส.ป.ก. ๔-๐๑ ของจำเลย มิใช่หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน แต่เป็นเพียงหลักฐานแสดงการอนุญาตให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินเท่านั้น คดีจึงไม่มีประเด็นโต้แย้งสิทธิในที่ดิน และโดยที่มาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๑๘ บัญญัติให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ส่วนการได้สิทธิการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินของเกษตรกรนั้น เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกร ซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. ๒๕๓๕ ข้อ ๖ ที่กำหนดให้เกษตรกรผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในระเบียบฯ มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินได้ และเมื่อเกษตรกรรายใดได้รับการคัดเลือกให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปแล้ว ข้อ ๘ ของระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ว่าด้วย การออก แก้ไขเพิ่มเติม เพิกถอนและออกใบแทนหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้กำหนดให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นผู้ออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) ให้แก่เกษตรกรผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าทำประโยชน์ และหากต่อมาปรากฏว่าหนังสืออนุญาตออกโดยผิดพลาด ข้อ ๑๐ (๒) ของระเบียบเดียวกัน กำหนดให้เป็นอำนาจของปฏิรูปที่ดินจังหวัดเป็นผู้เพิกถอนหนังสืออนุญาต ฉะนั้นการออกหนังสือ ส.ป.ก ๔-๐๑ จึงเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิของบุคคล อันเป็นคำสั่งทางปกครองตามคำนิยามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าที่ดินที่ทางราชการได้ออกหนังสือ ส.ป.ก. ๔-๐๑ แปลงเลขที่ ๘ ถึง ๑๐ ให้แก่จำเลยทั้งสาม ทับซ้อนกับที่ดินตาม น.ส. ๓ ข. เลขที่ ๑๗๙ ขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว กับขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ของจำเลยทั้งสาม เห็นว่า เนื้อหาแห่งคดีจึงเป็นการฟ้องการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจเรียกเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเป็นคู่กรณีในคดีได้ตามมาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบข้อ ๗๘ ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ และมาตรา ๕๗ (๓) (ข) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และเมื่อการออกหนังสือ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวเป็นการกระทบสิทธิของโจทก์และได้มาฟ้องเป็นคดีนี้ จึงมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยว่าคำสั่งออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. ๔-๐๑) แก่จำเลยทั้งสาม เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการฟ้องคดีต่อศาลใด ถ้าคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องเห็นว่าคดีดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของอีกศาลหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลที่รับฟ้องก่อนวันสืบพยานสำหรับศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร หรือก่อนวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกสำหรับ ศาลปกครองหรือศาลอื่น ในการนี้ให้ศาลที่รับฟ้องรอการพิจารณาไว้ชั่วคราว และให้จัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลที่คู่ความร้องว่าคดีนั้นอยู่ในเขตอำนาจโดยเร็ว …” และมาตรา ๑๗ วรรคสอง บัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการในการออกข้อบังคับ ซึ่งตามข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ในส่วนที่เกี่ยวกับการยื่นคำร้องและการเสนอเรื่อง ข้อ ๑๒ บัญญัติว่า “คำร้องต้องทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพ และอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้ … (๓) เหตุแห่งการยื่นคำร้อง โดยระบุถึงศาลที่รับฟ้อง ศาลที่อ้างว่ามีเขตอำนาจ คำพิพากษาหรือคำสั่งหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ของศาลที่เป็นเหตุให้ต้องยื่นคำร้อง (๔) คำขอให้ศาลหรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี มีคำวินิจฉัยอย่างหนึ่งอย่างใดพร้อมทั้งเหตุผลสนับสนุน …” และในส่วนที่เกี่ยวกับการวินิจฉัย ข้อ ๒๘ บัญญัติว่า “หากคำร้องที่ยื่นไว้ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติ … คณะกรรมการจะมีคำสั่งให้ยกคำร้องเสียก็ได้” และข้อ ๒๙ บัญญัติว่า “ในกรณีดังต่อไปนี้ คณะกรรมการจะสั่งให้จำหน่ายเรื่องออกจากสารบบความก็ได้ … (๒) การส่งเรื่องให้คณะกรรมการมิได้เป็นไปตามเงื่อนไขที่พระราชบัญญัติกำหนดไว้ …”
คดีนี้ ประเด็นที่ต้องพิจารณาเบื้องต้นมีว่า คำร้องขอให้วินิจฉัยเรื่องเขตอำนาจศาลของจำเลยทั้งสามเป็นคำร้องที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง ประกอบข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ข้อ ๑๒ หรือไม่ เห็นว่า แม้คำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลของจำเลยเป็นคำร้องที่ไม่ชัดเจนและไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับฯ ข้อ ๑๒ แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแขวงอุบลราชธานีวินิจฉัยว่า คดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง อันมีลักษณะเป็นคำขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔ โดยจัดทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลเป็นการเฉพาะ ตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ เมื่อพิจารณาคำร้องดังกล่าวร่วมกับคำให้การของจำเลยที่โต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้โจทก์จะต้องฟ้องคดีต่อศาลปกครอง มิใช่ศาลยุติธรรม ประกอบกับรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแขวงอุบลราชธานี ลงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ แสดงให้เห็นว่า คู่ความทุกฝ่ายมีความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับเหตุแห่งการยื่นคำร้องในกรณีนี้ของจำเลย ดังนั้นคำร้องดังกล่าวจึงเป็นกรณีที่อนุโลมได้ว่าเป็นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาล ตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ คณะกรรมการจึงรับเรื่องไว้พิจารณาได้
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ รวมทั้งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเรื่องที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง” คดีนี้ โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่า ได้รับความความเสียหายกรณี ส.ป.ก. ๔-๐๑ ของจำเลยทั้งสาม ซึ่งทางราชการออกให้เมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๙ ทับที่ดินตาม น.ส. ๓ ข. ของโจทก์ทั้งหมด ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตาม น.ส. ๓ ข. ของโจทก์ และขอให้เพิกถอน ส.ป.ก. ๔-๐๑ ของจำเลยทั้งสามในส่วนที่ทับที่ดินของโจทก์ ส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาทจำเลยทั้งสามได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์สืบเนื่องกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การออก ส.ป.ก. ๔-๐๑ ดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ซึ่งจำเลยทั้งสามครอบครองทำกินอย่างเจ้าของมานานจนเข้าหลักเกณฑ์ที่จะยื่นขอให้ออกเอกสารดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องว่ากล่าวกับสำนักงานการปฏิรูปที่ดินฯ ไม่ใช่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น กรณีจึงเป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน และความมุ่งหมายในการฟ้องคดีก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินตาม น.ส. ๓ ข. ของโจทก์ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางทองคำ สุทธิธนานนท์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายอินทร์ บุญประจง โจทก์ นางถนอม ทวีวรรณ ที่ ๑ นางจันหอม วิเศษหวาน ที่ ๒ นายเด่นชัย ทวีวรรณ ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วิรัช ลิ้มวิชัย (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายวิรัช ลิ้มวิชัย) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) อักขราทร จุฬารัตน (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายอักขราทร จุฬารัตน) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศานิต สร้างสมวงษ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศานิต สร้างสมวงษ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) พรชัย รัศมีแพทย์
(นายพรชัย รัศมีแพทย์)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share