คำวินิจฉัยที่ 177/2561

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชน ยื่นฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานทางปกครอง อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเจ้าของโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๐๗๒๓ ที่ดินโฉนดของผู้ร้องสอด มีเนื้อที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินของผู้ร้องสอดในส่วนที่ออกทับโฉนดที่ดินของผู้ฟ้องคดี และชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและผู้ร้องสอดให้การทำนองเดียวกันว่า โฉนดที่ดินเลขที่ ๓๑๓๐ เดิมเป็นของผู้มีชื่อได้แบ่งแยกในนามเดิมเป็นโฉนดเลขที่ ๑๑๓๔๑ และ ๑๑๓๔๒ ผู้ร้องสอดได้กรรมสิทธิ์โฉนดเลขที่ ๑๑๓๔๒ โดยซื้อมาจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ส่วนโฉนดเลขที่ ๑๑๓๔๑ ได้จดทะเบียนโอนมรดกและแบ่งแยกออกมาเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๕๐๗๒๓ กระบวนการแบ่งแยกโฉนดที่ดินชอบด้วยระเบียบกฎหมาย อีกทั้งเกิดก่อนที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะซื้อที่ดินมาจากเจ้าของที่ดินเดิมและเป็นผู้นำรังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงพิพาทไว้โดยไม่มีผู้ใดคัดค้านแนวเขตที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ดำเนินการไปตามอำนาจ ถูกต้องตามระเบียบ ขั้นตอนและวิธีการโดยชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท แต่การที่ศาลปกครองขอนแก่นจะกำหนดให้มีคำบังคับตามคำขอต่าง ๆ ดังกล่าวได้หรือไม่ จะต้องพิจารณาพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๒ ประกอบด้วย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงพิพาทหรือไม่นั้น ต้องเป็นไปตามอำนาจแห่งสิทธิของเอกชนในที่ดินแปลงนั้น ๆ ซึ่งในกรณีคดีนี้การที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะดำเนินการตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้หรือไม่ ก็ต้องเป็นไปตามผลของอำนาจแห่งสิทธินั้น ๆ ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือผู้ร้องสอดเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินส่วนที่พิพาท จากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นเพียงกรณีที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขแห่งสิทธิในที่ดินที่ถูกต้องแท้จริงของเอกชนแต่ละรายเท่านั้น ดังนั้นการเพิกถอนโฉนดที่ดินต้องดำเนินการไปตามอำนาจแห่งสิทธิของเอกชนนั้นเช่นเดียวกัน เมื่อเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากผู้ฟ้องคดีทั้งสองกล่าวอ้างว่าที่ดินของผู้ร้องสอดรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองและขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาท โดยมิได้อ้างเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกโฉนดที่ดินประการอื่น จึงเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน ทั้งความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีทั้งสองในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามที่กล่าวอ้างว่าตนมีกรรมสิทธิ์เป็นสำคัญ การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องสอด คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share