คำวินิจฉัยที่ 17/2554

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๗/๒๕๕๔

วันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดเกาะสมุย
ระหว่าง
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดเกาะสมุยส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ นางสาววเยาว์ บ้วนวงค์ หรือบ้วนวงษ์ โจทก์ ยื่นฟ้องนางสาวขนิษฐา เรืองศรี ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ ๓ นายพิชัย จันทร์ศรี ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลจังหวัดเกาะสมุย เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๔๖/๒๕๕๒ ความว่า จำเลยที่ ๒ เป็นกรมสังกัดกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี สาขาเกาะสมุย จำเลยที่ ๔ เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ ๓ เมื่อประมาณปี ๒๔๙๖ นางเขียน บ้วนวงค์ มารดาโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน หมู่ที่ ๔ ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ประมาณ ๓ งาน ๖๕ ตารางวา เมื่อนางเขียนถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวได้ออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๒๐๘ หมู่ที่ ๔ ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ประมาณ ๓ งาน ๖๕ ตารางวา ให้แก่โจทก์ในฐานะทายาทของนางเขียน โดยญาติของนางเขียนตกลงร่วมกันดูแลให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้เยาว์ เมื่อปี ๒๕๕๑ จำเลยที่ ๑ ยื่น คำขอต่อจำเลยที่ ๓ ว่า จำเลยที่ ๑ ครอบครองที่ดินดังกล่าวติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกินกว่า ๑ ปี ขอให้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองที่ดินเป็นจำเลยที่ ๑ โจทก์ยื่นคำคัดค้านต่อจำเลยที่ ๓ ต่อมาเมื่อปี ๒๕๕๒ จำเลยที่ ๑ หลอกลวงโจทก์ว่าต้องใช้ทางผ่านที่ดินดังกล่าวไปยังที่ดินแปลงอื่นขอให้โจทก์ถอนคำคัดค้าน โจทก์หลงเชื่อจึงลงลายมือชื่อในคำขอถอนคำคัดค้านดังกล่าว จำเลยที่ ๔ จึงจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองที่ดินเป็นจำเลยที่ ๑ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าว หากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจขณะวิกลจริต ผู้รับมอบอำนาจไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์ โจทก์ไม่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๑ ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นเวลาสิบกว่าปีโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน จำเลยที่ ๑ จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นการได้มาด้วยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิครอบครองเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายโดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือ น.ส. ๓ ฉบับเจ้าของที่ดิน จำเลยที่ ๑ ไม่เคยฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ด้วยความเท็จ โจทก์สละการครอบครองที่ดินพิพาทมานานหลายสิบปี และโจทก์ถอนคำคัดค้านด้วยความสมัครใจ โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่าจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า การจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองที่ดินพิพาทให้กับจำเลยที่ ๑ นั้น จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบคำสั่งและประมวลกฎหมายที่ดินโดยชอบแล้ว มิได้กระทำอันเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อแต่อย่างใด จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง และเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดเกาะสมุยพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ศาลต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าโจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าว แล้วจึงจะพิจารณาว่าคำสั่งให้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองที่ดินเป็นจำเลยที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และมีคำพิพากษาว่าจะให้เพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าวหรือไม่ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ว่าด้วยทรัพย์สิน ประกอบกับประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดินอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ และมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง สำหรับคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองที่ดินเป็นจำเลยที่ ๑ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ไม่มีคำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนดังกล่าวโดยที่การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์และการมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินการผิดพลาดคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายที่ดินอันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองอย่างหนึ่ง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงเป็นคดีปกครองตามมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง(๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับตามคำขอของโจทก์ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว แม้ว่าคดีนี้จะมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาก่อนว่า โจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ว่าด้วยทรัพย์สิน ประกอบประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะ ศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ ศาลปกครองจึงนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ว่าด้วยทรัพย์สิน และประมวลกฎหมายที่ดินมาใช้บังคับแก่คดีได้เช่นเดียวกัน เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ศาลยุติธรรมจึงย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามนัยมาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยที่ ๒ จะเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม แต่ตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า มารดาโจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน หมู่ที่ ๔ ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เนื้อที่ประมาณ ๓ งาน ๖๕ ตารางวา เมื่อมารดาโจทก์ถึงแก่ความตายที่ดินดังกล่าวได้ออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) เลขที่ ๒๐๘ ให้แก่โจทก์ในฐานะทายาท จำเลยที่ ๑ ยื่นคำขอต่อจำเลยที่ ๓ ให้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๑ อ้างว่า ครอบครองที่ดินดังกล่าวติดต่อกันเป็นระยะเวลาเกินกว่า ๑ ปี โจทก์ยื่นคำคัดค้านแต่ถูกจำเลยที่ ๑ หลอกลวงให้ถอนคำคัดค้าน ทำให้จำเลยที่ ๔ จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองที่ดินเป็นจำเลยที่ ๑ ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันเพิกถอนการจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จำเลยที่ ๑ ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นเวลาสิบกว่าปีโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท อันเป็นการได้มาด้วยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๗ การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้มีสิทธิครอบครองเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายโดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือ น.ส. ๓ ฉบับเจ้าของที่ดิน จำเลยที่ ๑ ไม่เคยฉ้อฉลหลอกลวงโจทก์ด้วยความเท็จ โจทก์สละการครอบครองที่ดินพิพาทมานานหลายสิบปี โจทก์ถอนคำคัดค้านด้วยความสมัครใจจึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การทำนองเดียวกันว่า การจดทะเบียนการได้มาโดยการครอบครองที่ดินพิพาทให้กับจำเลยที่ ๑ นั้น จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบคำสั่งและประมวลกฎหมายที่ดินโดยชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัย ขอให้ยกฟ้อง ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทโจทก์หรือจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสาววเยาว์ บ้วนวงค์ หรือบ้วนวงษ์ โจทก์ นางสาวขนิษฐา เรืองศรี ที่ ๑ กรมที่ดิน ที่ ๒ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ ๓ นายพิชัย จันทร์ศรี ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) สบโชค สุขารมณ์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายสบโชค สุขารมณ์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท ศิลปชัย สรภักดี (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(ศิลปชัย สรภักดี) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share