แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่าผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนบ้านพักและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่สาธารณประโยชน์ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน กับให้พิพากษาว่าที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่พิพาทที่ผู้ฟ้องคดีเข้าใช้ประโยชน์เป็นที่สาธารณะตามหลักฐานหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ สพ. ๐๔๗๑ (ท่าควาย ดอนงิ้วแปลง ๑) เห็นว่า คดีนี้แม้จะมีประเด็นเกี่ยวกับการออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สั่งการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและมีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕๑/๒๕๕๖
วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนี้
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๕ นางเหี่ยง ยอดมะปราง ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้ององค์การบริหารส่วนตำบลบางงามที่ ๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางงาม ที่ ๒ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางงาม ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๒๐/๒๕๕๕ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็น ผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ตั้งอยู่หมู่ที่ ๔ ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๑ ตารางวา ตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ จนถึงปัจจุบัน โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ ต่อมาในปี ๒๕๕๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีหนังสือแจ้งว่า ผู้ฟ้องคดีได้สร้างบ้านพักอาศัยและสิ่งปลูกสร้างในที่สาธารณประโยชน์ ตามหลักฐานหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ สพ.๐๔๗๑ (ท่าควาย ดอนงิ้วแปลง ๑ ) อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ขอให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าว ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินกับให้พิพากษาว่าที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ในปี ๒๕๕๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะดำเนินการสร้างระบบประปาแบบผิวดินขนาดใหญ่ จากการสำรวจพื้นที่ปรากฏว่าบริเวณที่ดินตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ สพ. ๐๔๗๑ (ท่าควายดอนงิ้วแปลง ๑) ที่จะดำเนินการก่อสร้าง ผู้ฟ้องคดีได้บุกรุกเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ จึงมีหนังสือแจ้งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่สาธารณประโยชน์ และได้ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีในกรณีดังกล่าวแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามมีหน้าที่ร่วมกับนายอำเภอท้องที่ในการดูแลรักษาป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน มิได้เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีสภาพเป็นคำสั่งทางปกครอง แต่เป็นการใช้สิทธิทางแพ่ง คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นหน่วยงานทางปกครอง โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แจ้งให้ผู้ฟ้องคดี รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบนที่พิพาท จึงเป็นกรณีกระทำการตามอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แม้คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาด้วยว่าที่พิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวมิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด และศาลปกครองสามารถนำบทบัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาใช้ในการวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ นอกจากนี้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามมิใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทอันเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดินดังเช่นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยทั่วไป คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้คู่กรณียังโต้แย้งกันอยู่ว่าที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือไม่ การที่ศาลจะวินิจฉัยว่าจะบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้หรือไม่ จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่พิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครอง มิใช่ที่สาธารณประโยชน์ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างหรือไม่ จึงจะพิจารณาได้ว่าจะบังคับตามคำขอที่ให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินและขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินแปลงพิพาทไม่ใช่ที่สาธารณะ ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับ สิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐอ้างว่าผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้ครอบครองที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ มีหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนบ้านพักและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่สาธารณประโยชน์ ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน กับให้พิพากษาว่าที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ใช่ที่สาธารณประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ที่พิพาทที่ผู้ฟ้องคดีเข้าใช้ประโยชน์เป็นที่สาธารณะตามหลักฐานหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ สพ. ๐๔๗๑ (ท่าควาย ดอนงิ้วแปลง ๑) เห็นว่า คดีนี้แม้จะมีประเด็นเกี่ยวกับการออกคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สั่งการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายและมีผลกระทบต่อสิทธิของโจทก์ แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางเหี่ยง ยอดมะปราง ผู้ฟ้องคดี องค์การบริหารส่วนตำบลบางงามที่ ๑ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางงาม ที่ ๒ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบางงาม ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ