คำวินิจฉัยที่ 150/2556

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ โดยครอบครองต่อจากมารดา ยังไม่ได้ออกหลักฐานเป็นโฉนดที่ดิน แต่ถูกจำเลยก่อสร้างถนนบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในแนวเขตที่ดินที่โจทก์ครอบครอง ทำให้ที่นาบางส่วนของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย หรือรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ และปรับสภาพที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นทางสาธารณประโยชน์ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่จำเลยจะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้นั้น จะต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

สำเนา

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๕๐/๒๕๕๖

วันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๕๖

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสุพรรณบุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นางสาวนวพร เพ็ญภินันท์ โจทก์ ยื่นฟ้องเทศบาลตำบลสามชุก จำเลย ต่อศาลจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๗๘๕/๒๕๕๕ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหลักฐาน น.ส. ๓ เล่ม ๑ หน้า ๑๐๒ ตั้งอยู่ริมถนนสายสุพรรณบุรี-ชัยนาท หมู่ที่ ๑ ตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ ๑๓ ไร่ ๑ งาน ๙๓ ตารางวา โดยครอบครองต่อจากมารดา ยังไม่ได้ออกหลักฐานเป็นโฉนดที่ดิน ซึ่งโจทก์ได้ทำการรังวัดสอบเขตและให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว ต่อมาโจทก์พบว่าจำเลยได้ว่าจ้างให้บุคคลอื่นก่อสร้างถนนหินคลุกตามโครงการพัฒนาเทศบาลตำบลสามชุก โดยถนนบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในแนวเขตที่ดินที่โจทก์ครอบครอง ประมาณ ๗๗ ตารางวา ทำให้ที่นาบางส่วนของโจทก์เสียหาย ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ตามปกติ ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย หรือให้จำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ และปรับสภาพที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม
จำเลยให้การว่า ที่ดินที่โจทก์อ้างว่าจำเลยก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่โจทก์ครอบครองนั้น เดิมเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรในบริเวณที่พิพาทและบริเวณใกล้เคียงได้ใช้เป็นทางสัญจร จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ไม่ได้เป็นการรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ จำเลยมีอำนาจก่อสร้างถนนได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ในระหว่างที่จำเลยก่อสร้างถนนโจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านปล่อยให้จำเลยทำการก่อสร้างถนนจนเสร็จ การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นจำนวนเงินสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การกระทำของจำเลยเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๕๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ อันเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง ในการให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดสุพรรณบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นหน่วยงานของรัฐ โจทก์เป็นเอกชนที่ฟ้องว่าหน่วยงานของรัฐกระทำละเมิดโดยสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่โจทก์ครอบครอง และจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้ให้การปฏิเสธต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่า ที่ดินบริเวณที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ศาลจะต้องพิจารณาเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นของเอกชนผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินว่าเป็นที่ดินของเอกชนหรือเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ โดยจะต้องพิจารณาถึงสิทธิครอบครองและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของคู่ความ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม คดีเกี่ยวกับการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลย คือ เทศบาลสามชุก ซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่น ตามาตรา ๗๐ ( ๒) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบกับมาตรา ๕๐ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ แก้ไขเพิ่มเติมโดยคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๖ พ.ศ. ๒๕๑๕ บัญญัติให้จำเลยมีอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนภายในท้องถิ่น (๒) ให้มีและบำรุงทางบกและทางน้ำ ดังนั้น การที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างถนนในเขตเทศบาล จึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ เมื่อมูลเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ สืบเนื่องมาจากการที่จำเลยได้ดำเนินการก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่โจทก์ครอบครอง ทำให้เนื้อที่นาบางส่วนของโจทก์เสียหายไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ตามปกติ โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยของต้นเงิน นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หรือให้จำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง (ถนน) ออกไปจากที่ดินของโจทก์ และปรับสภาพที่ดินของโจทก์ให้อยู่ในสภาพเดิม ส่วนจำเลยให้การว่า ที่ดินที่โจทก์อ้างว่า จำเลยก่อสร้างถนนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่โจทก์ครอบครองนั้น เดิมเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ราษฎรใช้เป็นทางสัญจร จำเลยมีอำนาจก่อสร้างถนนได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕๐ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. ๒๔๙๖ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ อ้างว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตาม น.ส. ๓ เล่ม ๑ หน้า ๑๐๒ ตั้งอยู่ริมถนนสายสุพรรณบุรี-ชัยนาท หมู่ที่ ๑ ตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ ๑๓ ไร่ ๑ งาน ๙๓ ตารางวา โดยครอบครองต่อจากมารดา ยังไม่ได้ออกหลักฐานเป็นโฉนดที่ดิน แต่ถูกจำเลยก่อสร้างถนนบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในแนวเขตที่ดินที่โจทก์ครอบครอง ทำให้ที่นาบางส่วนของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย หรือให้จำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ และปรับสภาพที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิม จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นทางสาธารณประโยชน์ที่ใช้เป็นทางสัญจร จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน การก่อสร้างถนนจึงไม่ได้เป็นการรุกล้ำเข้าไปในที่ดินที่โจทก์ครอบครอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ทั้งในระหว่างที่จำเลยก่อสร้างถนนโจทก์ไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ค่าเสียหายสูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของโจทก์ในการใช้สิทธิทางศาลก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่โจทก์กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิเป็นสำคัญ การที่จำเลยจะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ได้นั้น ก็จะต้องดำเนินการไปตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้เป็นยุติในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ซึ่งจะต้องพิจารณาให้ได้ความก่อนว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางสาวนวพร เพ็ญภินันท์ โจทก์ เทศบาลตำบลสามชุก จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share