คำวินิจฉัยที่ 14/2562

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้อง นางสาว ร. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดิน จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ กับที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชน อ้างว่า โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ นำคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งตั้งจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้จัดการมรดก ไปแจ้งต่อจำเลยที่ ๑ ให้โอนที่ดินทรัพย์มรดกของมารดา จำนวน ๒๐ แปลง ให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก ทั้งที่จำเลยทั้งสามรู้ดีว่าคำสั่งศาลที่ตั้งจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้จัดการมรดกนั้น ยังไม่ถึงที่สุด เนื่องจากโจทก์อุทธรณ์คำสั่ง และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง ๒๐ แปลง ให้กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้ามรดก เห็นว่า แม้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ เข้ามาในคดีร่วมกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเอกชนและเป็นทายาท โดยตั้งรูปเรื่องเป็นการฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมาด้วยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาคำฟ้องและคำขอบังคับของโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ไม่มีสิทธินำคำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งตั้งจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นผู้จัดการมรดก ไปประกอบการยื่นคำขอให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินมรดกของมารดาโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ เนื่องจากคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกยังไม่ถึงที่สุด จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่มีสิทธิจัดการมรดก และมีคำขอให้ทรัพย์มรดกกลับคืนสู่กองมรดก กรณีจึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในการจัดการทรัพย์มรดกของมารดาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในฐานะทายาท และเป็นเรื่องนิติสัมพันธ์ของบุคคลทางแพ่งระหว่างเอกชนด้วยกันเองมากกว่าการขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share