คำวินิจฉัยที่ 14/2545

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๔/๒๕๔๕

วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) ประกอบกับมาตรา ๓

ศาลจังหวัดนครปฐม
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครปฐมได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามมาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) และวรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาล

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๔ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. กิจสยาม โดยนายสุทธิชัย เพียรภักดีสกุล เป็นโจทก์ฟ้อง นายประสิทธิ์ ศรีสุขจร นายเกรียงไกร ชูศิลป์กุล และเทศบาลตำบลกำแพงแสน โดยนายซ้อน อ่อนศิริ นายกเทศมนตรี เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดนครปฐม ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๒๖๑/๒๕๔๔ ขอให้ชำระหนี้ค่าก่อสร้างซึ่งโจทก์ได้รับเหมาก่อสร้างวางท่อน้ำประปาของสุขาภิบาลกำแพงแสน เนื่องจากมีการขยายถนนกำแพงแสน – สุพรรณบุรี ทำให้ท่อน้ำประปาสุขาภิบาลทั้งสองฝั่งเดิมได้รับความเสียหายและใช้การไม่ได้เป็นเหตุให้ประชาชนในเขตอำเภอกำแพงแสนได้รับความเดือดร้อน คณะกรรมการสุขาภิบาลกำแพงแสนขณะนั้นมีมติในการประชุมครั้งที่ ๔/๒๕๔๒ วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๒ เห็นชอบให้มีการจัดจ้างโจทก์โดยวิธีพิเศษ เป็นเงินทั้งสิ้น ๑,๑๒๕,๐๐๐ บาท สุขาภิบาลกำแพงแสนได้แจ้งให้โจทก์ดำเนินการก่อสร้างตามแบบที่สุขาภิบาลกำแพงแสนกำหนดได้ทันที เมื่องานแล้วเสร็จตามแบบและสุขาภิบาลกำแพงแสนมีงบประมาณเพียงพอก็จะจ่ายเงินให้โจทก์ โจทก์จึงดำเนินการก่อสร้างตามแบบที่สุขาภิบาลกำแพงแสนกำหนด โดยมีการวางท่อน้ำประปาและติดตั้งท่อจ่ายน้ำดับเพลิงและข้อต่อแยกเป็นระยะทางทั้งสิ้น ๑,๑๕๐ เมตร เริ่มจากถนนมาลัยแมนฝั่งขวา บริเวณหน้าธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขากำแพงแสน จนถึงทางแยกถนนสุขาภิบาล ๑๖ หลังจากโจทก์ก่อสร้างแล้วเสร็จได้แจ้งจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลกำแพงแสนตรวจรับงาน โดยจำเลยที่ ๑ ได้ไปตรวจความเรียบร้อยพร้อมกับเจ้าหน้าที่ ปรากฏว่างานที่โจทก์รับเหมาเสร็จสมบูรณ์ตามแบบแปลนและได้มีการเชื่อมท่อเข้าระบบของท่อน้ำประปาที่โจทก์ได้ก่อสร้างไว้ก่อนแล้ว แต่จำเลยที่ ๑ มิได้จัดตั้งหรือกันงบประมาณเพื่อจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ คงประวิงเวลาการชำระค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์เรื่อยมา โดยอ้างว่างบประมาณยังไม่เพียงพอที่จะชำระให้แก่โจทก์ได้ จนกระทั่ง ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ทางราชการได้ออกกฎหมายยกฐานะสุขาภิบาลกำแพงแสนขึ้นเป็นเทศบาลตำบลกำแพงแสน พร้อมได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับการยกฐานะเทศบาลตำบลกำแพงแสนเพื่อให้มีผลตามกฎหมาย หลังจากได้มีการยกฐานะเทศบาลตำบลกำแพงแสนแล้ว บรรดาทรัพย์สินและสิทธิต่าง ๆ ของสุขาภิบาลกำแพงแสนจึงตกเป็นของเทศบาลตำบลกำแพงแสนทันทีโดยผลของกฎหมาย โจทก์จึงขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน ๑,๔๓๔,๓๗๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๑๒๕,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ยื่นคำร้องว่า เทศบาลตำบลกำแพงแสนซึ่งเป็นคู่สัญญาเกี่ยวกับการว่าจ้างวางท่อประปา เป็นหน่วยงานสังกัดกรมการปกครอง จึงเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลที่กระทำการแทนรัฐและปรากฏว่าสัญญาที่โจทก์กล่าวอ้างมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จึงต้องด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) เมื่อคดีดังกล่าวเป็นคดีที่เกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง โจทก์จึงต้องยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลปกครองกลาง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่จะต้องพิจารณา สัญญาจ้างก่อสร้างวางท่อน้ำประปาระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. กิจสยาม กับนายประสิทธิ์ ศรีสุขจร นายเกรียงไกร ชูศิลป์กุล และเทศบาลตำบลกำแพงแสน เป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ และอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีในคดีนี้เป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการปฏิบัติในฐานะผู้รับจ้างกับผู้ว่าจ้างตามสัญญาจ้างก่อสร้างวางท่อน้ำประปา ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสาม และโดยที่มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง จึงมีประเด็นต้องพิจารณาว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ได้บัญญัติว่า “สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งต้องเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ” ซึ่งจากข้อเท็จจริงในคดีนี้ โจทก์ บรรยายฟ้องให้จำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิด โดยจำเลยที่ ๑ เป็นประธานกรรมการสุขาภิบาลกำแพงแสน จำเลยที่ ๒ เป็นนายกเทศมนตรีตำบลกำแพงแสน และจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นเทศบาลตำบลกำแพงแสน ตามมูลหนี้สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง ดังนั้น จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ ๓ ซึ่งจำเลยที่ ๓ เป็นหน่วยบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ. ๒๕๔๒ กรณีจึงถือได้ว่าเป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนรัฐ เมื่อข้อพิพาทคดีนี้มีมูลอันเนื่องมาจากสัญญาจ้างก่อสร้างวางท่อน้ำประปา ซึ่งการประปาถือว่าเป็นสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยตรงโดยรัฐเป็นผู้จัดให้มีขึ้น
ดังนั้น สัญญานี้จึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนรัฐ ทั้งเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคอันอยู่ใน ความหมายของสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง ฯ คดีพิพาทนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีเกี่ยวกับสัญญาก่อสร้างวางท่อน้ำประปา ระหว่าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ก. กิจสยาม โจทก์ กับนายประสิทธิ์ ศรีสุขจร นายเกรียงไกร ชูศิลป์กุล และเทศบาลตำบลกำแพงแสน จำเลยทั้งสาม อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งในคดีนี้ได้แก่ ศาลปกครองกลาง

นายสันติ ทักราล หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

นายอักขราทร จุฬารัตน นายโภคิน พลกุล
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

พลโท สมัยรบ สุทธิวาทนฤพุฒิ พลโท อาชวัน อินทรเกสร
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

นายพรชัย รัศมีแพทย์
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share