คำวินิจฉัยที่ 137/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และที่ ๖ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ ซึ่งได้รับมรดกมาจากมารดา และนำไปยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๕ ในฐานะตัวแทนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้คัดค้านการออกโฉนด และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ได้ขัดขวางไม่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำคัดค้านการออกโฉนดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๕ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินให้กับผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ กับที่ ๖ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกให้การทำนองเดียวกันว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ “ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านสาวแล” การคัดค้านการออกโฉนดชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๓๗/๒๕๕๗

วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๗

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองอุดรธานี
ระหว่าง
ศาลจังหวัดหนองคาย

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองอุดรธานีโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๖ นางกองชาย แสงสว่าง ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย สาขาท่าบ่อ ที่ ๑ นายอำเภอโพธิ์ตาก ที่ ๒ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ตาก ที่ ๓ องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ตาก ที่ ๔ นายคิด จำปาทอง (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔) ที่ ๕ กรมการปกครอง ที่ ๖ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองอุดรธานี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๓๕/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๓๒๔ หมู่ ๓ ตำบลโพธิ์ตาก อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่ ๑๐ ตารางวา ซึ่งได้รับมรดกมาจากมารดา ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ผลการรังวัดได้เนื้อที่ประมาณ ๘ ไร่ ๑ งาน ๖๗ ตารางวา มากกว่าเนื้อที่เดิมประมาณ ๑ ไร่ ๑ งาน ๕๗ ตารางวา แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๕ ในฐานะตัวแทนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้คัดค้านการออกโฉนด อ้างว่า ที่ดินบริเวณดังกล่าวอยู่ในที่สาธารณประโยชน์ “ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านสาวแล” จึงไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ได้ทำรั้วลวดหนามล้อมรอบที่ดินของผู้ฟ้องคดี ทำลายทรัพย์ในที่ดินและที่พักชั่วคราวของผู้ฟ้องคดี และขัดขวางไม่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย สูญเสียรายได้ปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำคัดค้านการออกโฉนดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๕ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินให้กับผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ กับที่ ๖ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกให้การทำนองเดียวกันว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์”ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านสาวแล” การคัดค้านการขอออกโฉนดและการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๕ ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ ไม่เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๕ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ มีอำนาจในการดูแลรักษาที่ดินอันเป็นสาธารณประโยชน์ร่วมกับนายอำเภอ ตามมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ และข้อ ๖ ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดูแลรักษาและคุ้มครองป้องกันที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน พ.ศ. ๒๔๕๓ เมื่อผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินตามหลักฐาน ส.ค. ๑ ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการดำเนินการรังวัดการออกโฉนดที่ดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ในฐานะตัวแทนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้คัดค้านการรังวัดด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ตนไม่ได้รับโฉนดที่ดิน และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำรั้วลวดหนามล้อมรอบที่ดินของผู้ฟ้องคดี ได้ทำลายทรัพย์สินและรื้อถอนที่พักชั่วคราวของผู้ฟ้องคดี และขัดขวางไม่ให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ทำให้ผู้ฟ้องคดีเสียรายได้ปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงฟ้องขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำคัดค้านการออกโฉนดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๕ ในฐานะตัวแทนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดให้กับผู้ฟ้องคดีตามคำร้องขอ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ร่วมกันหรือแทนกันกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๖ ชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้องคดีปีละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท นับแต่ปี ๒๕๕๕ ถึงวันที่รื้อถอนรั้วให้ผู้ฟ้องคดีเข้าทำประโยชน์ในที่ดินได้ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดหนองคายพิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิของบุคคลอันเกี่ยวกับที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ว่าด้วยทรัพย์สิน คดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีจะโต้แย้งว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี แต่ต้องพิจารณาประเด็นหลักที่คู่กรณีโต้แย้งกันก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ศาลต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่พิพาทเป็นของผู้ฟ้องคดีตามข้ออ้างหรือไม่เป็นสำคัญ จึงจะพิจารณาเกี่ยวกับความเสียหายของผู้ฟ้องคดี และข้อต่อสู้ของผู้ถูกฟ้องคดีต่อไปได้ จึงเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และที่ ๖ เป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีครอบครองที่ดิน ส.ค. ๑ เลขที่ ๓๒๔ เนื้อที่ประมาณ ๗ ไร่ ๑๐ ตารางวา ซึ่งได้รับมรดกมาจากมารดา และนำไปยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๕ ในฐานะตัวแทนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้คัดค้านการออกโฉนด อ้างว่าเป็นที่สาธารณประโยชน์ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และที่ ๓ ได้ทำรั้วลวดหนามล้อมรอบที่ดินของผู้ฟ้องคดี ทำลายทรัพย์ในที่ดินและที่พักชั่วคราวของผู้ฟ้องคดี และขัดขวางไม่ให้ผู้ฟ้องคดีเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำคัดค้านการออกโฉนดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๕ และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ออกโฉนดที่ดินให้กับผู้ฟ้องคดี และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ กับที่ ๖ ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดี ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหกให้การทำนองเดียวกันว่า ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ “ที่ทำเลเลี้ยงสัตว์บ้านสาวแล” การคัดค้านการขอออกโฉนดและการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๕ ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ ไม่เป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายของผู้ฟ้องคดีในการใช้สิทธิทางศาล ก็เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษารับรองและคุ้มครองสิทธิในที่ดินของผู้ฟ้องคดีที่กล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิครอบครองเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางกองชาย แสงสว่าง ผู้ฟ้องคดี เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย สาขาท่าบ่อ ที่ ๑ นายอำเภอโพธิ์ตาก ที่ ๒ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ตาก ที่ ๓ องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ตาก ที่ ๔ นายคิด จำปาทอง (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๔) ที่ ๕ กรมการปกครอง ที่ ๖ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share