คำวินิจฉัยที่ 128/2560

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่บริษัทผู้รับประกันภัยเข้ารับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้าง ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ของสำนักงานประกันสังคม จำเลยที่ ๒ ว่าขับรถยนต์ของจำเลยที่ ๒ ด้วยความประมาทชนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินแก่โจทก์ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) เป็นการจำกัดประเภทคดีที่เกิดจากการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยมุ่งหมายให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดที่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานทางปกครองเท่านั้น เนื่องจากศาลปกครองมีหน้าที่ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ เมื่อการกระทำที่เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ คือ การขับรถ จึงมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ โดยไม่จำต้องพิจารณาว่า การขับรถดังกล่าวเป็นการปฏิบัติภารกิจตามที่ได้รับมอบหมาย อันจะถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากไม่มีผลเปลี่ยนแปลงลักษณะของการกระทำให้การขับรถซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ทั่วไปเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ได้ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ส่วนการที่มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ บัญญัติว่า “หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้” นั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่บทกำหนดเขตอำนาจศาล เป็นแต่เพียงเรื่องที่กฎหมายกำหนดความรับผิดของหน่วยงานของรัฐจากการกระทำละเมิดที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ของตน และมิใช่เป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดหน้าที่ในทางปกครอง ซึ่งหากหน่วยงานของรัฐไม่รับผิดต่อผู้เสียหายจะถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ เนื่องจากความรับผิดจากการกระทำละเมิดของหน่วยงานของรัฐตามบทบัญญัตินี้ยังอาจโต้แย้งได้ ดังจะเห็นได้จากข้อความต่อมาที่ให้สิทธิผู้เสียหายฟ้องหน่วยงานของรัฐ ซึ่งแตกต่างจาก “หน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ” ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนและแน่นอนในกฎหมายเพื่อบังคับให้เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย กรณีตามคำฟ้องนี้จึงมิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามนัยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) เช่นเดียวกัน แต่เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม

Share