แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณธกรรมการวินิจจัยฯ
ย่อสั้น
คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสองยื่นคำขอรังวัดเปลี่ยนโฉนดตราจองเป็นโฉนดที่ดิน ซึ่งโฉนดตราจองหรือตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” เป็นหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินประเภทหนึ่งตามมาตรา ๑ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ดังนั้น การรังวัดเปลี่ยนโฉนดตราจองหรือตราจองว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” เป็นโฉนดที่ดินจึงมิใช่การรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดิน แต่เป็นการรังวัดสอบเขตที่ดินตามมาตรา ๖๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อเปลี่ยนประเภทแห่งหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์และเพื่อให้ทราบที่ตั้งแนวเขตที่ดิน เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่าในการรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองพบว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินของนาย ส. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ สอบสวนไกล่เกลี่ยผลปรากฏว่า ทั้งสองรายตกลงจะยึดแนวเขตที่ดินตามที่ตกลงกันเป็นแนวเขตของตนและจะแบ่งหักที่ดินของตนให้ตกเป็นที่สาธารณะฝ่ายละ ๔ เมตร แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยกเลิกบันทึกข้อตกลงดังกล่าว กรณีตามคำฟ้องจึงเป็นปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งสองกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ ๐-๒-๖๑ ไร่ เป็นที่ดินตามตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” ของผู้ฟ้องคดีทั้งสองหรือเป็นที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๔๓๖๗ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๔๓๖๗ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ส่วนที่ทับซ้อนกับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสองเนื้อที่ ๐-๒-๖๑ ไร่ คำขอดังกล่าวก็เป็นเพียงผลของการวินิจฉัยปัญหาสิทธิในที่ดินส่วนที่พิพาท ประกอบกับยังไม่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีคำสั่งให้แก้ไขหรือไม่แก้ไขรูปแผนที่ และเนื้อที่ดินตามผลการรังวัด อันจะถือเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง เมื่อข้อพิพาทในคดีนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีทั้งสองและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกันว่าฝ่ายใดจะมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม