คำวินิจฉัยที่ 100/2562

แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์เป็นเอกชน ยื่นฟ้องกรมที่ดิน จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๓ เจ้าหน้าที่ของรัฐ กับจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชนด้วยกัน อ้างว่า โจทก์ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) เลขที่ ๒๖๔๗ มาจากจำเลยที่ ๔ โดยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา แต่จำเลยที่ ๑ มีคำสั่งเพิกถอน น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๖๔๗ อ้างว่าการออก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการออก น.ส. ๓ ก. โดยอาศัยหลักฐาน ส.ค. ๑ ของที่ดินแปลงอื่น และออกในที่ดินเขตนิคมสร้างตนเอง โดยไม่มีหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในเขตนิคมสร้างตนเอง (น.ค. ๓) หรือหลักฐาน ส.ค. ๑ มาก่อนการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง โจทก์ตรวจสอบขั้นตอนในการออกเอกสารสิทธิ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๖๔๗ แล้วพบว่า จำเลยที่ ๔ ยื่นคำขอออก น.ส. ๓ ก. ต่อจำเลยที่ ๓ และนำจำเลยที่ ๓ ทำการรังวัด ต่อมาจำเลยที่ ๒ ออกเอกสารสิทธิ น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๖๔๗ ให้แก่จำเลยที่ ๔ จากนั้นจำเลยที่ ๔ จดทะเบียนขายให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการร่วมกันออก น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๖๔๗ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการตรวจสอบดูแลและดำเนินการออกเอกสารสิทธิแก่ราษฎร รวมตลอดทั้งดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่าง ๆ ให้แก่ราษฎร มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการออกเอกสารสิทธิต่าง ๆ แต่กระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังไม่ตรวจสอบดูแลอย่างเต็มที่ในการออก น.ส. ๓ ก. ดังกล่าว และจำเลยที่ ๔ ได้ยื่นคำขอออก น.ส. ๓ ก. ต่อจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ โดยทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินที่นำรังวัด ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นค่าซื้อที่ดินและค่าเสียโอกาสในการขายที่ดิน ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ ๑ ให้การว่า น.ส. ๓ ก. เลขที่ ๒๖๔๗ ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากออกโดยอาศัยหลักฐาน ส.ค. ๑ สำหรับที่ดินแปลงอื่น จำเลยที่ ๑ ย่อมมีคำสั่ง เพิกถอน น.ส. ๓ ก. ดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๑ จำเลยที่ ๑ ไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายสูงเกินจริง ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ เห็นว่า เมื่อพิเคราะห์จากคำฟ้อง คำให้การแล้ว คดีนี้ไม่มีประเด็นโต้แย้งเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในที่ดินระหว่างคู่ความ เป็นเพียงกรณีที่โจทก์ขอให้ศาลวินิจฉัยความเสียหายอันเกิดจากการกระทำทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐเท่านั้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

Share