แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทและการจดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดิน จำเลยที่ ๖ โดยอ้างว่าเป็นการจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่มูลเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า เกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นเอกชนร่วมกันลักโฉนดที่ดินพิพาท ปลอมหนังสือมอบอำนาจ หนังสือให้ความยินยอมของสามีโจทก์ และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกชน และจำเลยที่ ๑ ได้นำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองกับจำเลยที่ ๕ ซึ่งเป็นเอกชนอันเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันทั้งในทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ เป็นคดีอาญาสืบเนื่องจากการกระทำดังกล่าวนี้ต่อศาลอาญาแล้ว และเป็นข้อเท็จจริงซึ่งศาลจำต้องนำมาวินิจฉัยในคดีนี้โดยศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ร่วมกันลักโฉนดที่ดิน และร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจและลายมือชื่อสามีโจทก์ลงในหนังสือยินยอมการจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างหรือไม่เป็นสำคัญ หากได้ความว่าการมอบอำนาจชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพิพาทย่อมชอบด้วยกฎหมายอันมีผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโอนไปเป็นของจำเลยที่ ๑ แต่หากการมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพิพาทก็ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายอันมีผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของโจทก์ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเกิดขึ้นจากประเด็นพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๐๐/๒๕๕๘
วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ นางสมหมาย จุลอักษร โจทก์ ยื่นฟ้อง นางสาวสุภาพร ชุ่มดวงใจจิต ที่ ๑ นางสาวหรือพันจ่าอากาศเอกหญิงจินตนา ชุ่มดวงใจจิต ที่ ๒ ร้อยเอกหรือนายประจิน หิรัญงาม ที่ ๓ นายวสันต์ จุลอักษร ที่ ๔ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๕ กรมที่ดิน ที่ ๖ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๕๕๕/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดเลขที่ ๑๖๕๐๒๘ ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑๖ ตารางวา พร้อมสิ่งปลูกสร้างทาวน์เฮาส์สองชั้น โดยซื้อมาจากบริษัทปุษย เฮ้าส์ซิ่ง จำกัด ต่อมา จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ร่วมกันลักโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๕๐๒๘ ฉบับจริงไปจากโจทก์ และได้ทำการปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์และหนังสือให้ความยินยอมของนายสุพรม จุลอักษร สามีโจทก์ ไปดำเนินการจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๖๕๐๒๘ ซึ่งเป็นโฉนดที่ดินพิพาทไปเป็นชื่อของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ ๕ เป็นประกันการชำระหนี้ ส่วนเจ้าพนักงานที่ดินในสังกัดของจำเลยที่ ๖ ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยไม่สุจริตหรือด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้ละเอียดและไม่ได้สอบสวนบันทึกถ้อยคำเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจว่าเป็นการมอบอำนาจจากโจทก์หรือไม่ตามกฎระเบียบข้อบังคับของทางราชการ ได้ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าวโดยรู้หรือควรรู้ว่าผู้ที่มาขอจดทะเบียนโอนขายมิใช่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ จึงเป็นการรับจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งโจทก์ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ไว้แล้ว ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการขายและจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๖๕๐๒๘ โดยเพิกถอนชื่อจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๕ ออกจากทะเบียนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๕๐๒๘ เพื่อให้เป็นชื่อของโจทก์ตามเดิม หากไม่สามารถโอนคืนที่ดินแก่โจทก์ได้ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ร่วมกันชดใช้เงินตามมูลค่าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้กับโจทก์ เป็นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ ไม่ได้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ลักโฉนดที่ดิน ปลอมลายมือชื่อโจทก์และสามีของโจทก์ เพื่อไปทำนิติกรรมที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน หรือธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด ทั้งมิได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ทั้งมิได้รับผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนใดๆ นิติกรรมดังกล่าวเป็นการสมคบคิดระหว่างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ดังนั้น จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๕ ในฐานะผู้รับจำนองจึงทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ และเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา ๗๐๒ วรรคสอง และมาตรา ๑๒๙๙ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ ๖ ให้การว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ ๑ ดังนั้น จำเลยที่ ๑ จึงสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกับจำเลยที่ ๕ ได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องใช้หนังสือมอบอำนาจ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๖ กระทำการโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินจริง โจทก์จึงไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้
จำเลยที่ ๖ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
อนึ่ง จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาที่ศาลอาญา ในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ร่วมกันปลอมเอกสาร และใช้เอกสารปลอม ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ และใช้เอกสารสิทธิปลอม ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๔๔๒๒/๒๕๕๖ และคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๔๗๓๙/๒๕๕๖ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครองหรือคำสั่งอื่น หรือการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร และคดีนี้จำเลยที่ ๖ เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย อันเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามความในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้สืบเนื่องมาจากโจทก์กล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ ๖ ผู้ซึ่งมีอำนาจจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ มิได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้ละเอียด เพื่อได้ดำเนินการไปโดยถูกต้องตามกฎ ระเบียบ และวิธีปฏิบัติราชการครบถ้วนถูกต้องก่อนที่จะดำเนินการจดทะเบียนให้ตามคำขอ และยังได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมจำนองที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ เพื่อทำการจำนองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๕ ทำให้โจทก์เสียหายต้องสูญเสียสิทธิในที่ดิน เห็นว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยที่ ๖ ดังที่โจทก์อ้างเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทางปกครองตามอำนาจหน้าที่ทั่วไปของเจ้าพนักงานที่ดิน เพื่อให้การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมบรรลุผลเท่านั้น เจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๖ มิได้ใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร ดังนั้น เมื่อมิใช่กรณีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเสียแล้ว คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ร่วมกันลักโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๕๐๒๘ ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ฉบับจริงของโจทก์ไปจากโจทก์ และร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในหนังสือมอบอำนาจและลายมือชื่อสามีโจทก์ลงในหนังสือยินยอมการจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งต่อมามีการจดทะเบียนโอนขายที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๑ และจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้กับจำเลยที่ ๕ ก็ตาม แต่คดีนี้หาได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยเฉพาะไม่ เนื่องจากประมวลกฎหมายที่ดิน ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในเรื่องการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในอสังหาริมทรัพย์ไว้โดยเฉพาะ โดยจำเลยที่ ๖ ซึ่งเป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย มีภารกิจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในที่ดินของบุคคลและจัดการที่ดินของรัฐ โดยการออกหนังสือแสดงสิทธิ และให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามข้อ ๒ กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมที่ดินกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุพิพาท ส่วนการสอบสวนในเรื่องสิทธิและความสามารถของบุคคล รวมถึงการตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจให้ทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมก่อนการรับจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและจำนองที่ดินตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๙๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ประกอบกับระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการมอบอำนาจให้ทำการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หรือกิจการอื่นเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๔๗ จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าพนักงานที่ดินโดยเจ้าพนักงานที่ดินต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาว่ามีเหตุผลอันสมควรในการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและจดทะเบียนจำนองให้กับผู้ยื่นคำขอหรือไม่ ซึ่งเป็นขั้นตอนการพิจารณาทางปกครอง ตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ การที่เจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาคำขอจดทะเบียนขายที่ดินและคำขอจดทะเบียนจำนองที่ดินของจำเลยที่ ๑ แล้วอนุญาตให้จดทะเบียนนิติกรรมขายและจำนอง จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามนัยมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แม้คดีจะมีประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของนิติกรรมก็ตาม แต่ศาลก็ย่อมที่จะต้องพิจารณาและตรวจสอบถึงความสมบูรณ์ของขั้นตอนในการใช้อำนาจในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม รวมไปถึงการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๖ ด้วย เนื่องจากเป็นขั้นตอนตามที่ประมวลกฎหมายที่ดินได้บัญญัติไว้ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ได้ร่วมกันลักโฉนดที่ดินของโจทก์ไป และได้ทำการปลอมหนังสือมอบอำนาจของโจทก์และหนังสือให้ความยินยอมของนายสุพรม จุลอักษร สามีโจทก์ ไปดำเนินการจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๖๕๐๒๘ ซึ่งเป็นโฉนดที่ดินพิพาทไปเป็นชื่อของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ได้นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ ๕ เพื่อประกันหนี้เงินกู้ ส่วนเจ้าพนักงานที่ดินในสังกัดของจำเลยที่ ๖ ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยไม่สุจริตหรือด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่ได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ ให้ละเอียดและไม่ได้สอบสวนบันทึกถ้อยคำเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจว่าเป็นการมอบอำนาจจากโจทก์หรือไม่ ตามกฎระเบียบข้อบังคับของทางราชการ แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๖ ได้ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าว โดยรู้หรือควรรู้ว่าผู้ที่มาขอจดทะเบียนโอนขายมิใช่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ จึงเป็นการรับจดทะเบียนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาล กรณีจึงเป็นการฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๖ ดำเนินการจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ในการตรวจสอบลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยมีคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายและจำนองดังกล่าวเพิกถอนชื่อจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๕ ออกจากทะเบียนที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๕๐๒๘ ให้เป็นชื่อของโจทก์ตามเดิม หากไม่สามารถดำเนินการโอนที่ดินคืนแก่โจทก์ได้ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป คำฟ้องดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โจทก์มุ่งประสงค์ให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งจดทะเบียนโอนขายและจดทะเบียนจำนองที่ดิน เพื่อให้ศาลเพิกถอนคำสั่งจดทะเบียนโอนขายและจดทะเบียนจำนองที่ดินซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นสำคัญ คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย และละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเอกชนยื่นฟ้องเอกชนและหน่วยงานทางปกครองว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๖๕๐๒๘ ตำบลคลองถนน อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร แต่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ร่วมกันลักโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจากโจทก์ และร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ลงในหนังสือมอบอำนาจและลายมือชื่อสามีโจทก์ลงในหนังสือยินยอมการจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งต่อมามีการจดทะเบียนโอนขายที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ ๑ และจดทะเบียนจำนองที่ดินไว้กับจำเลยที่ ๕ และเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๖ ได้ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังกล่าว โดยรู้หรือควรรู้ว่าผู้ที่มาขอจดทะเบียนโอนขายมิใช่ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ อันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายและการจดทะเบียนจำนองที่ดินให้กลับมาเป็นของโจทก์ หากไม่สามารถโอนที่ดินคืนแก่โจทก์ ขอให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินตามมูลค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ ๓ ให้การว่า ไม่ได้ร่วมกันกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ กระทำความผิดอาญาฐานลักโฉนดที่ดินและปลอมลายมือชื่อเพื่อไปทำนิติกรรม การกระทำดังกล่าวเป็นการสมรู้ร่วมคิดระหว่างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๔ ดังนั้น จำเลยที่ ๓ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๕ เป็นผู้รับจำนองและเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริต และได้จดทะเบียนโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ ๖ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จึงสามารถทำนิติกรรมกับจำเลยที่ ๕ ได้ด้วยตนเอง การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๖ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า คดีนี้ แม้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทและการจดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่มูลเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า เกิดจากการที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ลักโฉนดที่ดินพิพาท ปลอมหนังสือมอบอำนาจ หนังสือให้ความยินยอมของสามีโจทก์ และจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ได้นำโฉนดที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองกับจำเลยที่ ๕ อันเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันทั้งในทางแพ่งและทางอาญา ซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ เป็นคดีอาญาสืบเนื่องจากการกระทำดังกล่าวนี้ต่อศาลอาญาแล้ว และเป็นข้อเท็จจริงซึ่งศาลจำต้องนำมาวินิจฉัยในคดีนี้โดยศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ร่วมกันลักโฉนดที่ดิน และร่วมกันปลอมลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจและลายมือชื่อสามีโจทก์ลงในหนังสือยินยอมการจดทะเบียนขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างหรือไม่เป็นสำคัญ หากได้ความว่าการมอบอำนาจชอบด้วยกฎหมายแล้ว การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพิพาทย่อมชอบด้วยกฎหมายอันมีผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโอนไปเป็นของจำเลยที่ ๑ แต่หากการมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมพิพาทก็ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมายอันมีผลให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของโจทก์ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงเกิดขึ้นจากประเด็นพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางสมหมาย จุลอักษร โจทก์ นางสาวสุภาพร ชุ่มดวงใจจิต ที่ ๑ นางสาวหรือพันจ่าอากาศเอกหญิงจินตนา ชุ่มดวงใจจิต ที่ ๒ ร้อยเอกหรือนายประจิน หิรัญงาม ที่ ๓ นายวสันต์ จุลอักษร ที่ ๔ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่ ๕ กรมที่ดิน ที่ ๖ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ