คำวินิจฉัยที่ 1/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่อัยการศาลทหารกรุงเทพเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยกรณีแถลงข่าวและลงข้อความที่มีเนื้อหาเป็นการต่อต้านการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในเฟสบุ๊ค อันเป็นกรณีกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่ระบุไว้ในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ๓๗ /๒๕๕๗ และเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายหลังจากมีประกาศดังกล่าวแล้ว แม้การกระทำผิดที่โจทก์กล่าวอ้างตามฟ้องจะเกิดขึ้นในวัน เวลา และสถานที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นข้อยกเว้นอำนาจศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗ /๒๕๕๗ ข้อ ๑ (๒) แต่เมื่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในฐานะผู้ใช้อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ออกประกาศลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ ที่เป็นผลให้การประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คำฟ้องของโจทก์ข้อนี้
จึงไม่เข้าข้อยกเว้นของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ข้อ ๑ (๒) และเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑/๒๕๕๙

วันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

เรื่อง เขตอำนาจศาลตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ศาลทหารกรุงเทพ
ระหว่าง
ศาลอาญากรุงเทพใต้

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลทหารกรุงเทพโดยสำนักตุลาการทหารส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๗ อัยการศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ ยื่นฟ้องนายจาตุรนต์ ฉายแสง จำเลย ต่อศาลทหารกรุงเทพ เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๑ ก./๒๕๕๗ ความว่า จำเลยเป็นบุคคลพลเรือนได้กระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๖ และความผิดตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นความผิดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติประกาศให้เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร เพื่อให้การรักษาความสงบและการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ข้อ ๑ และข้อ ๒ และมีการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ เรื่อง คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันให้อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกันภายในราชอาณาจักร อันประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน กล่าวคือ จำเลยซึ่งได้ทราบคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เฉพาะ) ที่ ๒๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๙/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๑/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ซึ่งถือเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจตามกฎหมายได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
ข้อ ๑.๑ เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลากลางวัน ภายหลังเวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา อันเป็นวันเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จำเลยซึ่งเป็นบุคคลที่มีรายชื่อให้มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑/๒๕๕๗ ลำดับที่ ๓ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๒/๒๕๕๗ ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าว โดยไม่ไปรายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๙/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๔๑/๒๕๕๗ จำเลยทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าวซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร
ข้อ ๑.๒ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลากลางวัน ภายหลังเวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา อันเป็นวันเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร จำเลยซึ่งเป็นบุคคลที่มีรายชื่อให้มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑/๒๕๕๗ และคำสั่งที่ ๒/๒๕๕๗ ซึ่งยังไม่มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามคำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าว ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติสั่งให้จำเลยมารายงานตัวหรือแจ้งเหตุขัดข้องจำเป็นเร่งด่วนต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เฉพาะ) ที่ ๒๕/๒๕๕๗ จำเลยฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว โดยไม่ไปรายงานตัวและไม่แจ้งข้อขัดข้องจำเป็นเร่งด่วนต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ภายในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ภายในเวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา อันเป็นความผิดตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เฉพาะ) ฉบับที่ ๒๕/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๔๑/๒๕๕๗ และจำเลยได้ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานดังกล่าวซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร
ข้อ ๑.๓ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลากลางวัน อันเป็นวันเวลาที่อยู่ในระหว่างประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร และในระหว่างที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ใช้บังคับ ทั้งอยู่ในระหว่างวันเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และมีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๗/๒๕๕๗ เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมือง ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ห้ามมิให้มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่แห่งใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ ๕ คนขึ้นไปและกำหนดโทษทางอาญาแก่ผู้ฝ่าผืน จำเลยทราบประกาศคำสั่งและเหตุผลตามประกาศฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ ดังกล่าวแล้ว แต่ฝ่าฝืนคำสั่งและประกาศไม่เข้ารายงานตัวและแจ้งเหตุขัดข้อง และเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลากลางวัน จำเลยยังจัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย โดยจำเลยแถลงด้วยวาจาเป็นภาษาอังกฤษให้กับผู้สื่อข่าว ทั้งผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวในประเทศไทยและผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศจำนวนมากรับฟังปรากฏตามภาพและเสียงที่ถูกบันทึกไว้ในแผ่นซีดีบันทึกวีดีโอการแถลงข่าวพร้อมคำแปลท้ายฟ้อง และจำเลยยังพิมพ์และส่งข้อความเป็นหนังสือภาษาไทยลงในเว็บไซต์เฟสบุ๊ค หน้าเว็บเพจชื่อ “Chaturon.FanPage”ของบุคคลที่ใช้ชื่อว่า Chaturon Chaisang ซึ่งคำแถลงของจำเลยดังกล่าวบางส่วนมีเนื้อหาเป็นการต่อต้านการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยการนำข้อความดังกล่าวซึ่งเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และเป็นการกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด เพื่อต่อต้านการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติอันเป็นการยุยงปลุกปั่นทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันเป็นการล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินซึ่งมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริตอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
ทั้งนี้ การกระทำผิดตามฟ้องเป็นคดีที่เกี่ยวโยงต่อเนื่องเกี่ยวพันกันอันเป็นเขตที่อยู่ในอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก ขอให้ลงโทษจำเลยตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๒/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (เฉพาะ) ที่ ๒๕/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม๒๕๕๗ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๙/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๑/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๖ มาตรา ๓๖๘ และมาตรา ๙๑ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔ (๓)
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลทหาร แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม เนื่องจากการกระทำของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นและสิ้นสุดลงก่อนที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จะมีผลใช้บังคับ ประกาศทั้งสองฉบับเพิ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ซึ่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ บัญญัติให้การประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ต้องให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาด้วย ประกาศดังกล่าวจึงมีผลบังคับใช้นับจากวันประกาศคือ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป และประกาศ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ประกาศให้การใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นประกาศที่ขัดต่อหลักกฎหมายมิให้ใช้กฎหมายอาญาย้อนหลังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ นอกจากนี้การกระทำตามข้อ ๑.๓ ยังต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ข้อ ๑ (๒)
ศาลทหารกรุงเทพพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ กำหนดให้ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๒ และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๑๑๓ ถึงมาตรา ๑๑๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตลอดจนคดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันกับความผิดดังกล่าว เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ดังนี้ การกระทำความผิดตามประกาศสองฉบับดังกล่าว ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร กรณีตามฟ้องโจทก์ในข้อ ๑.๑ และ ๑.๒ นั้นโจทก์บรรยายฟ้องในข้อ ๑.๑ ว่าจำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลากลางวัน ภายหลังเวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา และบรรยายฟ้องในข้อ ๑.๒ ว่า จำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลากลางวัน ภายหลังเวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา จึงเป็นความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ดังนั้น ความผิดในข้อหาฝ่าฝืนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และข้อหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ เจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวโยงกัน ตามที่โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อ ๑.๑ และ ๑.๒ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร แต่เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ส่วนฟ้องโจทก์ข้อ ๑.๓ นั้น เห็นว่า เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ผู้บัญชาการทหารบก อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒ และมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๓.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป ซึ่งตามความในมาตรา ๒ ตอนท้าย แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ บัญญัติว่า “ถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใด บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติ หรือบทกฎหมายใด ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับและใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน” ดังนั้น การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๗ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗ และต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๗ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาบังคับใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ออกไปจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ จึงเป็นอันต้องระงับตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๓.๐๐ นาฬิกา และให้ใช้กฎอัยการศึกบังคับแทน ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ โดยออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๑/๒๕๕๗ เรื่อง การควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๖.๓๐ นาฬิกา จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘ ได้มีการประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกทั้งสองฉบับดังกล่าว ดังนั้น พื้นที่แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องข้อ ๑.๓ จึงเป็นเขตที่อยู่ในอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึก ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๐๓.๐๐ นาฬิกา ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘ กรณีตามฟ้องโจทก์ในข้อ ๑.๓ จึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นตามข้อ ๑ (๒) ตอนท้ายของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกประกาศ เรื่อง ให้อำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สิ้นสุดลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ โดยประกาศดังกล่าวให้อำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการในเขตพื้นที่ที่ได้มีการประกาศข้างต้น ระหว่างวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ และบรรดาประกาศ ข้อกำหนด ที่นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย ประกาศและออกตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้เป็นอันสิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไปนั้น เห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ มาตรา ๔๗ วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติรับรองไว้ว่า “บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จนถึงวันที่คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น ไม่ว่าจะกระทำก่อนหรือหลังวันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับเป็นประกาศหรือคำสั่ง หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุดและให้ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวที่ยังมีผลใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ มติคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่ง แล้วแต่กรณี แก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก” ดังนี้ ประกาศของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว จึงชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุด โดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ทั้งสองฉบับนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกโดยอาศัยอำนาจรัฐ จึงมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ได้ประกาศเป็นต้นไป ซึ่งตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ มาตรา ๗ วรรคหนึ่ง ก็ได้บัญญัติว่า “ในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก…ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกมีอำนาจประกาศให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและในระหว่างที่ใช้กฎอัยการศึกตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัตินี้…” และมาตรา ๗ วรรคสอง บัญญัติว่า “ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามความในวรรคแรก ให้มีผลบังคับเฉพาะคดีที่การกระทำผิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันเวลาที่ระบุไว้ในประกาศ วันเวลาที่ระบุนั้น จะเป็นวันเวลาที่ออกประกาศนั้น หรือภายหลังนั้นก็ได้ ประกาศเช่นว่านี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษาด้วย” จึงเห็นได้ว่า ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตั้งวันเวลาใดนั้น ย่อมเป็นไปตามที่ระบุไว้ในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่ให้โฆษณาประกาศนั้นลงในราชกิจจานุเบกษาเพียงเพื่อให้ทราบทั่วไปเท่านั้น ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาทั้งหมดความผิดตามฟ้องโจทก์ข้อ ๑.๓ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่๓๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นความผิดที่เกี่ยวโยงกันกับความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จึงเห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ ข้อ ๑.๑ และ ๑.๒ เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ส่วนข้อ ๑.๓ เป็นคดีที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลทหาร
ศาลอาญากรุงเทพใต้พิจารณาแล้วเห็นว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ใช้อำนาจรัฐออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และ ฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ ระบุให้ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตลอดจนคดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกันกับความผิดดังกล่าว เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป ดังนั้น คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตามประกาศฉบับดังกล่าวต้องเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป กรณีตามฟ้องโจทก์ข้อ ๑.๑ และ ๑.๒ นั้น โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งการตามอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๘ ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวโยงกัน โดยบรรยายฟ้องในข้อ ๑.๑ ว่า จำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลากลางวัน ภายหลังเวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา และบรรยายฟ้องในข้อ ๑.๒ ว่าจำเลยกระทำผิดเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลากลางวัน ภายหลังเวลา ๑๖.๐๐ นาฬิกา ความผิดตามข้อ ๑.๑ และ ๑.๒ จึงเป็นการกระทำที่เกิดและสิ้นสุดก่อนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และฉบับที่ ๓๘/๒๕๕๗ มีผลใช้บังคับ กรณีตามฟ้องโจทก์ข้อ ๑.๑ และ ๑.๒ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมส่วนกรณีตามฟ้องโจทก์ข้อ ๑.๓ นั้น เห็นว่า แม้ผู้บัญชาการทหารบกจะประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๓.๐๐ นาฬิกา เป็นต้นไป แต่ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ซึ่งออกมาภายหลัง ข้อ ๑ (๒) ของประกาศดังกล่าวได้ยกเว้นความผิดซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ไว้ชัดเจนว่า เป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๗ ให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๗ และต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ขยายเวลาบังคับใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ออกไปจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ ฐานความผิด วันเวลาและพื้นที่แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานครตามฟ้อง จึงอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ต้องด้วยข้อยกเว้นตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ กรณีตามฟ้องโจทก์ ข้อ ๑.๓ จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ส่วนที่ต่อมาเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติผู้ใช้อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศให้อำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์ อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการในพื้นที่ที่มีการประกาศข้างต้น ระหว่างวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ และบรรดาประกาศ ข้อกำหนดที่นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยประกาศและออกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้เป็นอันสิ้นสุดลง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไปนั้น เห็นว่า การกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ ข้อ ๑.๓ เดิมเกิดก่อนมีการประกาศฉบับลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมซึ่งมีความเป็นอิสระและเป็นกลาง จำเลยผู้ต้องหาว่ากระทำผิดมีสิทธิที่จะได้รับหลักประกันขั้นต่ำต่างๆ ในการพิจารณาคดี และเมื่อมีคำพิพากษา โจทก์และจำเลยยังมีสิทธิที่จะให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ซึ่งมีระดับเหนือขึ้นไปพิจารณาทบทวนความชอบด้วยกฎหมายอีกได้ อันเป็นกติกามาตรฐานที่ได้รับการรับรองและยอมรับกันเป็นสากล การออกประกาศเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ ที่ให้อำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการในเขตพื้นที่ที่ได้มีการประกาศข้างต้น ระหว่างวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ และบรรดาประกาศ ข้อกำหนด ที่นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยประกาศและออกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้เป็นอันสิ้นสุดลง ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไปนั้น ทำให้การกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ ข้อ ๑.๓ ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม เปลี่ยนไปอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ซึ่งเป็นศาลคนละระบบ มีกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาแตกต่างไปไม่เป็นคุณแก่จำเลย ทั้งขณะนั้นคณะรักษาความสงบแห่งชาติควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศไว้แล้ว ไม่มีเหตุผลและความจำเป็นของรัฐในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมย้อนไปถึงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ กรณีจึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงให้กระทบกระเทือนสิทธิพื้นฐานของจำเลยที่มีอยู่ก่อนในอันที่จะได้รับการพิจารณาและพิพากษาคดีในศาลยุติธรรมให้ถูกเคลื่อนย้ายไปสู่ระบบอื่น ด้วยเหตุผลดังกล่าว ความผิดตามฟ้องโจทก์ข้อ ๑.๓ จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลทหาร
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า สำหรับความผิดตามคำฟ้อง ข้อ ๑.๑ และข้อ ๑.๒ ซึ่งบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ ๒๓ และวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ตามลำดับนั้น ศาลทหารกรุงเทพและศาลอาญากรุงเทพใต้มีความเห็นตรงกันว่า เป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ จะมีประกาศ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ลงวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลอาญากรุงเทพใต้ซึ่งเป็นศาลยุติธรรม ความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว จึงเป็นอันยุติไป คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะความผิดตามคำฟ้อง ข้อ ๑.๓ ซึ่งโจทก์ฟ้องบรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดภายหลังจากที่มีการประกาศใช้ ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ และ ๓๘/๒๕๕๗ แล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำร้องโต้แย้งอำนาจศาลของจำเลย สรุปได้ว่า เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๗ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และขยายเวลาในการประกาศใช้บังคับออกไปจนถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๗ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ผู้บัญชาการทหารบก อาศัยอำนาจตามมาตรา ๒ และมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยออกประกาศ ฉบับที่ ๓๗ /๒๕๕๕๗ เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร โดยกำหนดให้การกระความผิดตามที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักรและในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร
๑. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
(๑) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งแต่มาตรา ๑๐๗ ถึงมาตรา ๑๑๒
(๒) ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา ๑๑๓ ถึงมาตรา ๑๑๘ ยกเว้นความผิดซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ …ฯ และในวันเดียวกันได้ออกประกาศ ฉบับที่ ๓๘ /๒๕๕๗ ว่าให้คดีที่เป็นความผิดตามประกาศ ฉบับที่ ๓๗ /๒๕๕๗ ซึ่งอาจมีข้อหาอื่นที่มีความผิดในตัวเอง และมิได้อยู่ในอำนาจศาลทหารรวมอยู่ด้วยก็ให้อยู่ในอำนาจศาลทหารที่จะพิจารณาพิพากษาด้วย
๒. ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ต่อมาวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในฐานะผู้ใช้อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตาม มาตรา ๑๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ออกประกาศ ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และบรรดาประกาศ ข้อกำหนด ที่นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ประกาศ และออกตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้เป็นอันสิ้นสุดลงโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ตามประกาศ ฉบับลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ข้อนี้นั้น บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จำเลยกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร กรณีแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวในประเทศไทยและส่งข้อความเป็นหนังสือภาษาไทยลงในเว็บไซต์เฟสบุ๊ค หน้าเว็บเพจชื่อ “Chaturon.FanPage” ของบุคคลที่ใช้ชื่อว่า Chaturon Chaisang โดยมีเนื้อหาเป็นการต่อต้านการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เหตุเกิดที่กรุงเทพมหานคร จึงเป็นกรณีที่กล่าวหาว่า จำเลยกระทำความผิดตามฐานความผิดที่ระบุไว้ในประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ๓๗ /๒๕๕๗ และเป็นการกระทำที่ภายหลังจากมีประกาศดังกล่าวแล้ว แม้การที่ในวัน เวลา และสถานที่ที่เกิดการกระทำความผิดจะเป็นช่วงเวลาและสถานที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ อันเป็นข้อยกเว้นอำนาจศาลทหารตามประกาศดังกล่าว ข้อ ๑ (๒) ก็ตาม แต่เมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติในฐานะผู้ใช้อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้อาศัยอำนาจตาม มาตรา ๑๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ออกประกาศให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และบรรดาประกาศ ข้อกำหนด ที่นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยประกาศและออกตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้เป็นอันสิ้นสุดลงโดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ กรณีจึงต้องถือว่าการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑ มีผลสิ้นสุดลงไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ทั้งนี้แม้จะทำให้อำนาจศาลที่เหนือคดีนี้เปลี่ยนแปลงไปก็ตาม แต่ก็มิใช่เป็นเรื่องบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีโทษทางอาญาซึ่งต้องห้ามมิให้มีผลย้อนหลัง ทั้งไม่ว่าคดีนี้จะพิจารณาพิพากษาที่ศาลใดก็ตาม แต่ละศาลย่อมให้ความเป็นธรรมแก่จำเลยได้ทั้งสิ้น กรณีจึงมิใช่เป็นประกาศที่เป็นผลร้ายแก่จำเลย ดังนั้น คำฟ้องของโจทก์ข้อนี้จึงไม่เข้าข้อยกเว้นของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ ๓๗/๒๕๕๗ ข้อ ๑ (๒) และเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร ๑๒
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีตามคำฟ้องเฉพาะข้อ ๑.๓ ระหว่าง อัยการศาลทหารกรุงเทพ โจทก์ นายจาตุรนต์ ฉายแสง จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหาร

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share