แหล่งที่มา : สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
การที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจะวินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้นั้นจะต้องปรากฏว่าคำพิพากษาที่ถึงที่สุดระหว่างศาลนั้นได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในเรื่องเดียวกันนั้นขัดแย้งกัน การยื่นคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีคำพิพากษาศาลฎีกาและคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดขัดแย้งกันของผู้ร้อง แม้คดีตามคำพิพากษาทั้งสองฉบับดังกล่าวจะมีปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ศาลทั้งสองต้องพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ให้รื้อถอนอาคารในลักษณะเดียวกัน แต่เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏมีความแตกต่างกัน แม้จะอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายเดียวกัน ผลของคดีจึงแตกต่างกันไปตามข้อเท็จจริงที่ต่างกัน และคำพิพากษาของศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุดต่างก็เป็นการวินิจฉัยถึงคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นคนละฉบับซึ่งบังคับให้กระทำต่ออาคารคนละอาคารและเจ้าของอาคารเป็นบุคคลคนละคนกัน และวินิจฉัยถึงการดัดแปลงต่อเติมอาคารที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแตกต่างกัน แม้เจ้าพนักงานผู้ต้องปฏิบัติตามผลคำพิพากษาจะเป็นคนเดียวกันและอาคารที่เกี่ยวข้องจะอยู่ติดกันก็ตาม กรณีย่อมไม่อาจมีข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดของทั้งสองศาล ประกอบกับเมื่อพิจารณาคำร้องของผู้ร้องทั้งสองมีลักษณะเป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังข้อเท็จจริงของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนี้คำพิพากษาที่ถึงที่สุดระหว่างศาลที่เกี่ยวข้องตามคำร้องของผู้ร้องจึงมิได้ขัดแย้งกัน คำร้องของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยมาตรา ๑๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ อาศัยอำนาจตามข้อ ๒๘ แห่งข้อบังคับคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ว่าด้วยวิธีการเสนอเรื่อง การพิจารณาและวินิจฉัย พ.ศ. ๒๕๔๔ ให้ยกคำร้อง