แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ได้แสดงหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับรายได้โจทก์และบัญชีรายได้ของโจทก์ว่าโจทก์ มีบัญชีรายได้เป็นเงิน 16,834,480.41 บาท ซึ่งตรงกับงบดุลในปี 2535 แต่เจ้าพนักงานของจำเลยได้คำนวณรายได้ ของโจทก์รวมทั้งสิ้น 16,982,605.43 บาท และแจ้งว่าโจทก์บันทึกรายได้ต่างจากการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน 148,125.02 บาท ซึ่งยอดตามที่เจ้าพนักงานจำเลยคำนวณมานั้น เจ้าพนักงานได้บวกภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปด้วย การที่โจทก์ อุทธรณ์ว่า โจทก์มีรายได้จำนวนตามฟ้อง เพราะเวลาที่โจทก์ขายน้ำมันจะมีส่วนลดให้แก่ลูกค้า ยอดที่จำเลยคำนวณ ไม่ตรงกันเพราะคิดเฉลี่ยจากราคาเต็มไม่คิดส่วนลดให้ และราคาเฉลี่ยที่เจ้าพนักงานสรรพากรประเมินอาจไม่ตรงกับราคาน้ำมันในแต่ละวัน เป็นการคำนวณไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนอาจผิดหรือถูกก็ได้นั้น เป็นข้อที่โจทก์มิได้ยกขึ้นอ้างเพื่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำฟ้อง แม้ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นรายการและชำระภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ทวิ (1) หรือยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา 67 ทวิ (1) โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควรก็จะต้องรับผิดตาม มาตรา 67 ตรี ซึ่งจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือ ของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นหรือของภาษีที่ชำระขาดแล้วแต่กรณี ดังนั้น จึงถือได้ว่าการฝ่าฝืนมาตรา 67 ทวิ ได้มีบทบัญญัติกำหนดความรับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว และหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นประมาณการหรือแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 เจ้าพนักงานประเมินจะทราบและสามารถประเมินให้ผู้ต้องเสียภาษีชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มได้ทันทีเมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 68 และ 69 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวน ตรวจสอบดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 กรณีจึงมิใช่เรื่องการยื่นรายการตามแบบไม่ถูกต้องและมีการออกหมายเรียกไต่สวนตรวจสอบแล้วจึงประเมินเพิ่มตามที่ตรวจสอบดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 และ 20 เจ้าพนักงานประเมิน จึงไม่มีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับตามมาตรา 22 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ประมวลรัษฎากร มาตรา 67 ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า ภาษีที่ชำระตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 68 ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 (ครึ่งปี) ที่เจ้าพนักงานประเมินจำนวน 23,425.27 บาท จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าภาษีที่โจทก์ต้องชำระเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 เมื่อโจทก์ได้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 68 และ 69 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้ยื่นตามปกติและที่ได้ยื่นเพิ่มเติมรวมทั้ง จะต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 เนื่องจากบันทึกยอดขายขาดไป ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีจำนวนดังกล่าว จึงซ้ำซ้อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 67 ตรี บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่แสดงประมาณกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีโดยไม่มีเหตุอันสมควรเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ (1) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสีย ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือของภาษีที่ชำระขาดแล้วแต่กรณี เมื่อโจทก์มีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจะนำมาหักได้ตามกฎหมายในรอบระยะเวลาหกเดือนของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ซึ่งแบบ ภ.ง.ด. 51 ของจำเลยก็ยินยอมให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แล้วจึงนำมาถือเป็นภาษีเงินได้ที่ต้องชำระเพิ่มเติม โจทก์ย่อมนำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปมาหักได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ มิได้อุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ทุนทรัพย์ที่พิพาทเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มต้องแยกคำนวณจากทุนทรัพย์ที่พิพาทเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะการฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของภาษีทั้งสองประเภทมีสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและมีวิธีการคำนวณแตกต่างกัน เมื่อทุนทรัพย์เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนภาษีที่พิพาท 50,000 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 25 โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์เสียภาษีครบถ้วนถูกต้องแล้วโดยมียอดขายจำนวน 367,496.49 บาท และยอดซื้อจำนวน 339,058.97 บาท เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์และให้งดหรือลดเบี้ยปรับกับเงินเพิ่มด้วย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ ๑,๕๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ตามลำดับ ดังนี้ ประการแรก คือในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๕ โจทก์มีรายได้จำนวน ๑๖,๘๓๔,๔๘๐.๔๑ บาท หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายในคำฟ้องว่า โจทก์ได้แสดงหลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับรายได้โจทก์และบัญชีรายได้ของโจทก์ว่าโจทก์มีบัญชีรายได้เป็นเงิน ๑๖,๘๓๔,๔๘๐.๔๑ บาท ซึ่งตรงกับงบดุลในปี ๒๕๓๕ แต่เจ้าพนักงานของจำเลยได้คำนวณรายได้ของโจทก์รวมทั้งสิ้น ๑๖,๙๘๒,๖๐๕.๔๓ บาท และแจ้งว่าโจทก์บันทึกรายได้ต่างจากการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ๑๔๘,๑๒๕.๐๒ บาท ซึ่งยอดตามที่เจ้าพนักงานคำนวณมานั้น เจ้าพนักงานได้บวกเอาภาษีมูลค่าเพิ่มเข้าไปด้วย การที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีรายได้เป็นจำนวนตามฟ้อง เพราะเวลาที่โจทก์ขายน้ำมันจะมีส่วนลดให้แก่ลูกค้า ยอดที่จำเลยคำนวณไม่ตรงกันเพราะคิดเฉลี่ยจากราคาเต็มไม่คิดส่วนลดให้ และราคาเฉลี่ยที่เจ้าพนักงานประเมินอาจไม่ตรงกับราคาน้ำมันในแต่ละวัน การคำนวณปริมาณน้ำมันเป็นลิตรคูณด้วยราคาถัวเฉลี่ย โดยราคาถัวเฉลี่ยนำมาจากราคาขายของทั้งปีแล้วหารด้วยปริมาณน้ำมันที่ขายเนื่องจากไม่ทราบว่าน้ำมันที่ขาดหายไปเป็นราคาในวันใด เป็นการคำนวณไม่มีหลักเกณฑ์แน่นอนอาจผิดหรือถูกก็ได้นั้น เป็นข้อที่โจทก์มิได้ยกขึ้นอ้างเพื่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ในคำฟ้อง แม้ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้ ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๒๙ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๕ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
สำหรับที่โจทก์อุทธรณ์ว่าภาษีครึ่งปีได้รวมอยู่ในภาษีเต็มปีโจทก์จึงเสียภาษีครบถ้วนแล้ว จำเลยไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากโจทก์ได้อีก และหากจำเลยจะเรียกเก็บจากโจทก์ได้จำเลยก็มีสิทธิเรียกเก็บได้แต่เพียงเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๒๐ เท่านั้น คงเป็นภาษีที่โจทก์จะต้องเสียอีกไม่เกิน ๔,๖๘๕.๐๖ บาท การที่จำเลยเรียกให้โจทก์เสียภาษีเป็นเงินทั้งสิ้น ๔๒,๘๕๖.๘๒ บาท จึงไม่ชอบ เห็นว่า ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นรายการและชำระภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๗ ทวิ (๑) หรือยื่นรายการและชำระภาษีตามมาตรา ๖๗ ทวิ (๑) โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ ๒๕ ของกำไรสุทธิ ซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นโดยไม่มีเหตุอันสมควรก็จะต้องรับผิดตามมาตรา ๖๗ ตรี ซึ่งจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๒๐ ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา ๖๗ ทวิ (๑) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นหรือของภาษีที่ชำระขาดแล้วแต่กรณี ดังนั้น จึงถือได้ว่าการฝ่าฝืนมาตรา ๖๗ ทวิ นี้ ได้มีบทบัญญัติกำหนดความรับผิดไว้โดยเฉพาะแล้ว อีกประการหนึ่งมาตรา ๖๗ ทวิ เป็นเรื่องของการประมาณการและหากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นประมาณการหรือแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ ๒๕ เจ้าพนักงานประเมินจะทราบและสามารถประเมินให้ผู้ต้องเสียภาษีชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มได้ทันทีเมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา ๖๘ และ ๖๙ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกตัวผู้ยื่นรายการมาไต่สวนตรวจสอบ ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙ แต่ประการใด กรณีจึงมิใช่เรื่องการยื่นรายการตามแบบไม่ถูกต้องและมีการออกหมายเรียกไต่สวนตรวจสอบแล้วจึงประเมินเพิ่มตามที่ตรวจสอบดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙ และ ๒๐ ด้วย เหตุนี้เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินให้โจทก์เสียเบี้ยปรับตามมาตรา ๒๒ การประเมินในส่วนนี้จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์แต่ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๒๙ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ส่วนเงินค่าภาษีจำนวน ๒๓,๔๒๕.๒๗ บาท ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ นฐ/๒/๒๕๔๒ นั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๖๗ ทวิ วรรคสอง บัญญัติว่า ภาษีที่ชำระตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา ๖๘ ค่าภาษีจำนวน ๒๓,๔๒๕.๒๗ บาท จึงเป็นส่วนหนึ่งของค่าภาษีที่โจทก์ต้องชำระเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๓๕ เมื่อโจทก์ได้ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๓๕ ตามแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา ๖๘ และ ๖๙ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้ยื่นตามปกติและที่ได้ยื่นเพิ่มเติม รวมทั้งจะต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๓๕ เนื่องจากบันทึกยอดขายขาดไป ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีจำนวนดังกล่าวจึงซ้ำซ้อนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกรณีของโจทก์ปรากฏจากสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา ๖๗ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือแบบ ภ.ง.ด. ๕๑ ตามเอกสารหมาย ล. ๑ แผ่นที่ ๑๖๔ ว่าโจทก์มีภาษีที่ชำระเกิน ๒,๑๒๑ บาท โจทก์จึงไม่มีเครดิตภาษีตามมาตรา ๖๘ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
สำหรับเงินเพิ่มที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยมีสิทธิเรียกเก็บเงินเพิ่มไม่เกิน ๔,๖๘๕.๐๖ บาท นั้น เห็นว่า เจ้าพนักงานประเมินได้มีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มตามมาตรา ๖๗ ตรี จำนวน ๔,๖๘๕.๐๖ บาท แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์ยื่นประมาณการขาดไปเกินร้อยละ ๒๕ โดยไม่มีเหตุอันสมควรจึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๒๐ ตามมาตรา ๖๗ ทวิ จากภาษีที่ชำระขาด โดยไม่คำนึงถึงภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย จะเป็นเงินเพิ่มจำนวน ๗,๗๑๘.๙๑ บาท เห็นว่า มาตรา ๖๗ ตรี บัญญัติให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่แสดงประมาณกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ ๒๕ ของกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีโดยไม่มีเหตุอันสมควรเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๒๐ ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา ๖๗ ทวิ (๑) หรือของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น หรือของภาษีที่ชำระขาดแล้วแต่กรณี เช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์มีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจะนำมาหักได้ตามกฎหมายในรอบระยะเวลาหกเดือนของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ซึ่งแบบ ภ.ง.ด. ๕๑ ของจำเลยในช่องการคำนวณภาษีก็ยินยอมให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในรายการที่ ๔ แล้วจึงนำมาถือเป็นภาษีเงินได้ที่ต้องชำระเพิ่มเติมในรายการที่ ๕ เช่นนี้ โจทก์ย่อมนำภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปมาหักได้ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์นำหลักเกณฑ์ตามหนังสือที่ กค. ๐๘๑๐/๑๓๑๐๓ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๒ วรรคสอง ข้อ ๒ เรื่องซ้อมความเข้าใจในการขอยกเว้นเงินเพิ่มตามมาตรา ๖๗ ตรี การเรียกเก็บเงินเพิ่มตามมาตรา ๒๗ เบี้ยปรับตามมาตรา ๒๒, ๒๖ แห่งประมวลรัษฎากร กรณีนิติบุคคลประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ ๒๕ และกรณีไม่ยื่นประมาณการกำไรสุทธิ ซึ่งแปลความตามมาตรา ๖๗ ตรี ในทางที่เป็นผลร้ายแก่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้อุทธรณ์แต่ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๒๙ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๕) ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ปัญหาสุดท้ายที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนธันวาคม ๒๕๓๕ ของสำนักงานใหญ่โจทก์มียอดขายจำนวน ๕๙๕,๔๙๘.๑๙ บาท และของสำนักงานสาขามียอดขายจำนวน ๓๖๗,๔๙๖.๔๙ บาท กับยอดซื้อจำนวน ๓๓๙,๐๕๘.๙๗ บาท หรือไม่ เห็นว่า คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเดือนธันวาคม ๒๕๓๕ พร้อมเบี้ยปรับ และเงินเพิ่มเนื่องจากแจ้งยอดขายไม่ถูกต้องทั้งสำนักงานใหญ่และสาขาของโจทก์ เป็นเงินภาษีส่วนของสำนักงานใหญ่ ๒๖,๘๕๙.๑๐ บาท ส่วนของสำนักงานสาขา ๑๖,๒๐๓.๔๘ บาท รวมเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มของเดือนธันวาคม ๒๕๓๕ ทั้งสิ้น ๔๓,๐๖๒.๕๘ บาท เมื่อคำนวณเงินเพิ่มจนถึงวันฟ้องไม่ถึง ๕๐,๐๐๐ บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มของเดือนธันวาคม ๒๕๓๕ ดังกล่าว ต้องแยกคำนวณจากทุนทรัพย์ที่พิพาทเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล เพราะการฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของภาษีทั้งสองประเภทมีสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและมีวิธีการคำนวณแตกต่างกัน ดังนั้น เมื่อทุนทรัพย์เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. ๒๕๒๘ มาตรา ๒๕ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เสียภาษีครบถ้วนถูกต้องแล้วโดยมียอดขายและยอดซื้อจำนวนดังกล่าว เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ นฐ/๒/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๒ เฉพาะค่าภาษีอากรจำนวน ๒๓,๔๒๕.๒๗ บาท และเบี้ยปรับจำนวน ๑๑,๗๑๒.๖๔ บาท และให้แก้ไขการประเมินในส่วนเงินเพิ่มโดยให้โจทก์ชำระแต่เพียงเงินเพิ่มจำนวน ๔,๖๘๕.๐๖ บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.