แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/26 ให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ถ้าคำขอรับชำระหนี้รายนั้นมีผู้โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด คือให้ยกคำขอรับชำระหนี้ อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนหรืออนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ บางส่วน เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งดังกล่าวแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ตามมาตรา 90/32 และเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาล และผู้คัคค้านแถลงคัดค้านคำร้องดังกล่าว ศาลล้มละลายจะต้องดำเนินการไต่สวนหาความจริงในข้อเท็จจริงที่คู่ความยังโต้เถียงกันอยู่แล้ววินิจฉัยคดีตามประเด็นซึ่งเกิดจากคำร้องและคำคัดค้านนั้น ในคำสั่งศาลเรื่องดังกล่าวจะต้องแสดงถึงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงและ คำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและมีปัญหาข้อกฎหมาย ตลอดจนค่าฤชาธรรมเนียม ตามมาตรา 14 และข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ข้อ 24
ตามคำร้องของผู้ร้องได้อ้างเป็นประเด็นในการคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในมูลหนี้อันดับที่ 2 ส่วนที่ 1 ภาษีอากรที่วัตถุดิบในคลังสินค้าทัณฑ์บนขาดหายไปว่า จะใช้จำนวนวัตถุดิบในคลังสินค้าที่ขาดหาย ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านเข้าไปตรวจสอบจำนวนวัตถุดิบเป็นฐานในการคำนวณภาระภาษีอากรจำนวนวัตถุดิบที่ขาดหายไปนั้นผู้ร้องสามารถชี้แจงได้หรือไม่ และลูกหนี้ต้องรับผิดภาษีจำนวนเท่าใด และส่วนที่ 2 ภาษีอากรสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้ามามีอายุเกิน 2 ปี นับแต่วันนำเข้าเป็นภาระภาษีอากรที่ซ้ำซ้อนกับมูลหนี้ส่วนที่ 1 และเมื่อผู้คัดค้านโต้แย้งประเด็นดังกล่าว ศาลล้มละลาย จึงต้องมีคำสั่งโดยวินิจฉัยคดีตามประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวให้ป็นที่ชัดแจ้งว่าจะใช้จำนวนวัตถุดิบที่ขาดหายไป ณ วันใดเป็นฐานในการคำนวณภาษีอากร มีสินค้าประเภทใดขาดหายไป จำนวนเท่าใด แล้วเหตุที่ผู้ร้องอ้างว่าทำให้ สินค้าขาดหายนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ และหากเหตุดังกล่าวมีอยู่จริงถือว่าเป็นเหตุอันสมควรหรือไม่ จากเหตุดังกล่าว ลูกหนี้ต้องรับผิดในมูลหนี้ภาษีอากรเนื่องจากวัตถุดิบในคลังสินค้าทัณฑ์บนขาดหายตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 13/2534 เรื่องระเบียบเกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า ข้อ 17 และข้อ 19 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 ทวิ (2) แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 หรือไม่ เพียงใด และในมูลหนี้ภาษีอากรเนื่องจาก นำวัตถุดิบเข้ามาค้างเกิน 2 ปี ซ้ำซ้อนกับมูลหนี้ค่าภาษีอากรเนื่องจากจำนวนวัตถุดิบในคลังสินค้าทัณฑ์บนขาดหายไปหรือไม่ อย่างไร เมื่อคำวินิจฉัยของศาลล้มละลายเป็นการกล่าวแบบรวม ๆ มิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีและ แสดงเหตุผลประกอบการวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 และข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 ข้อ 24
ผู้ร้องประสงค์จะอ้างหรือขอให้เรียกพยานเอกสารอีกหลายฉบับซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการวินิจฉัยประเด็นแห่งคดี อีกทั้งได้ระบุรายละเอียดของเอกสารดังกล่าวมาแล้วในคำร้องคัดค้านและคำฟ้องอุทธรณ์ พร้อมทั้ง ขอให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเพิ่มเติม นอกจากนี้ในคำร้องและคำคัดค้านยังมีข้อเท็จจริงที่ยังโต้เถียงกันอีกหลายประการ ศาลฎีกาพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนแล้วเห็นว่ายังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัย จึงจำต้อง ย้อนสำนวนคืนไปยังศาลล้มละลายเพื่อพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 243 (1) และ (2) ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮ้าส์ คอร์ปอเรท รีสตรัคเจอริ่ง จำกัด เป็นผู้ทำแผนของลูกหนี้เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2541 ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม 2541 ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ทำแผนคนใหม่ของลูกหนี้ตามมติที่ประชุมเจ้าหนี้
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำขอรับชำระหนี้ มูลหนี้อันดับที่ 1 หนี้ค่าอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน 1,891,165,815 บาท มูลหนี้อันดับที่ 2 หนี้ค่าอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มในการดำเนินการผลิตภายใต้คลังสินค้าทัณฑ์บน 720,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,611,165,815 บาท พร้อมด้วยเงินเพิ่มตามกฎหมายศุลกากรและ ป. รัษฎากร เนื่องจากเงื่อนไขที่ลูกหนี้ยังมิได้หยุดดำเนินกิจการและยังนำเข้าส่งออกอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ให้บรรดาเจ้าหนี้ ลูกหนี้ และผู้ทำแผนตรวจคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/29 แล้ว มีผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ทำแผนโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านทั้งสองได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้อันดับที่ 1 จำนวน 3,349,826.80 บาท พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายศุลกากรและ ป. รัษฎากร นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าอากรและภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 210,972,903.79 บาท พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายศุลกากรและ ป. รัษฎากร โดยมีเงื่อนไขว่า หากลูกหนี้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามบัตรส่งเสริมการลงทุนและคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนมีคำสั่งให้เรียกเก็บแล้ว ผู้คัดค้านทั้งสองจึงได้รับชำระหนี้ตามจำนวนที่เรียกเก็บ แต่ไม่เกินวงเงินดังกล่าวในมูลหนี้อันดับที่ 2 จำนวน 22,138,010.37 บาท พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายศุลกากรและ ป. รัษฎากร นับแต่วันถัดจากวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนกว่าจะชำระเสร็จจากลูกหนี้
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในภาระภาษีสำหรับวัตถุดิบที่ขาดหายไปจากแบบ กออ. 4 โดยเหตุที่วัตถุดิบมิได้ขาดหายในลักษณะที่ลูกหนี้ต้องรับผิด และหากเห็นว่าลูกหนี้ต้องรับผิดชำระภาษีอากรอยู่บางส่วน ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนพยานทั้งสองฝ่ายเพิ่มเติมในประเด็นภาระภาษีอากรตามจำนวนวัตถุดิบที่ขาดหายจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2541 และคิดคำนวณภาระภาษีอากร ณ วันดังกล่าวแทนการคิดคำนวณภาระภาษีอากรตามจำนวนวัตถุดิบที่ขาดหายจากคลังสินค้าทัณฑ์บน ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2542
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ลูกหนี้ต้องรับผิดชำระภาษีที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งเงินเพิ่มทั้งหมด
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงข้อเท็จจริงต่อศาลเพื่อทราบ
ศาลล้มละลายกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดไต่สวน แล้วมีคำสั่งว่าการดำเนินการต่าง ๆ ของผู้คัดค้านทั้งสองต่อลูกหนี้เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศของทางราชการที่เกี่ยวข้อง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประกาศและข้อปฏิบัติทางราชการ ผู้ร้องไม่อาจปฏิเสธความรับผิดในมูลหนี้ภาษีอากรโดยอ้างทางปฏิบัติของลูกหนี้ คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงชอบแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลง ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ผู้ร้องว่า ศาลล้มละลายกลางได้วินิจฉัยประเด็นแห่งคดีตามคำร้องของผู้ร้องโดยชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า ในการขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/26 ให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ถ้าคำขอรับชำระหนี้รายนั้นมีผู้โต้แย้ง ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด คือให้ยกคำขอรับชำระหนี้ อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนหรืออนุญาตให้ได้รับชำระหนี้บางส่วน เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งดังกล่าวแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียอาจยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลได้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/32 และเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาล และผู้คัดค้านทั้งสองแถลงคัดค้านคำร้องดังกล่าว ศาลล้มละลายกลางจะต้องดำเนินการไต่สวนหาความจริงในข้อเท็จจริงที่คู่ความยังโต้เถียงกันอยู่แล้ววินิจฉัยคดีตามประเด็นซึ่งเกิดจากคำร้องและคำคัดค้านนั้น ในคำสั่งศาลเรื่องดังกล่าวจะต้องแสดงถึงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงและคำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดี ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตลอดจนค่าฤชาธรรมเนียมตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 และข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ข้อ 24
ตามคำร้องของผู้ร้องได้อ้างเป็นประเด็นในการคัดค้านคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในมูลหนี้อันดับที่ 2 ส่วนที่ 1 ภาษีอากรที่วัตถุดิบในคลังสินค้าทัณฑ์บนขาดหายไปว่า จะใช้จำนวนวัตถุดิบในคลังสินค้าที่ขาดหาย ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือวันที่ 17 พฤษภาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านทั้งสองเข้าไปตรวจสอบจำนวนวัตถุดิบเป็นฐานในการคำนวณภาระภาษีอากร จำนวนวัตถุดิบที่ขาดหายไปนั้นผู้ร้องสามารถชี้แจงได้หรือไม่ และลูกหนี้ต้องรับผิดภาษีจำนวนเท่าใด และส่วนที่ 2 ภาษีอากรสำหรับวัตถุดิบที่นำเข้ามามีอายุเกิน 2 ปี นับแต่วันนำเข้าเป็นภาระภาษีอากรที่ซ้ำซ้อนกับมูลหนี้ส่วนที่ 1 และเมื่อผู้คัดค้านทั้งสองโต้แย้งประเด็นดังกล่าว ศาลล้มละลายกลางจึงต้องมีคำสั่งโดยวินิจฉัยคดีตามประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวให้เป็นที่ชัดแจ้งว่าจะใช้จำนวนวัตถุดิบที่ขาดหายไป ณ วันใดเป็นฐานในการคำนวณภาษีอากร มีสินค้าประเภทใดขาดหายไป จำนวนเท่าใด แล้วเหตุที่ผู้ร้องอ้างว่าทำให้สินค้าขาดหายนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ และหากเหตุดังกล่าวมีอยู่จริงถือว่าเป็นเหตุอันสมควรหรือไม่ จากเหตุดังกล่าวลูกหนี้ต้องรับผิดในมูลหนี้ภาษีอากรเนื่องจากวัตถุดิบในคลังสินค้าทัณฑ์บนขาดหายตามประกาศกรมศุลกากรที่ 13/2534 เรื่อง ระเบียบเกี่ยวกับคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทโรงผลิตสินค้า ข้อ 17 แล้วข้อ 19 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 ทวิ (2) แห่ง พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2469 หรือไม่ เพียงใด และในมูลหนี้ภาษีอากรเนื่องจากนำวัตถุดิบเข้ามาค้างเกิน 2 ปี ซ้ำซ้อนกับมูลหนี้ค่าภาษีอากรเนื่องจากจำนวนวัตถุดิบในคลังสินค้าทัณฑ์บนขาดหายไปหรือไม่ อย่างไร การที่ศาลล้มละลายกลางเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ และมีคำสั่งเพียงว่า เมื่อลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามประกาศและข้อปฏิบัติทางราชการ ผู้ร้องไม่อาจอ้างปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างทางปฏิบัติของลูกหนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น คำวินิจฉัยของศาลล้มละลายกลางดังกล่าวเป็นการกล่าวแบบรวม ๆ มิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี และแสดงเหตุผลประกอบการวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 และข้อกำหนดคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 ข้อ 24
คดีนี้ปรากฏว่าผู้ร้องประสงค์จะอ้างหรือขอให้เรียกพยานเอกสารอีกหลายฉบับซึ่งเป็นเอกสารสำคัญในการวินิจฉัยประเด็นข้างต้น อีกทั้งได้ระบุรายละเอียดของเอกสารดังกล่าวมาแล้วในคำร้องคัดค้านและคำฟ้องอุทธรณ์พร้อมทั้งขอให้ศาลสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนเพิ่มเติม นอกจากนี้ในคำร้องและคำคัดค้านยังมีข้อเท็จจริงที่ยังโต้เถียงกันอีกหลายประการ ศาลฎีกาพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว เห็นว่ายังไม่เพียงพอแก่การวินิจฉัย จึงจำต้องย้อนสำนวนคืนไปยังศาลล้มละลายกลางเพื่อพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) และ (2) ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 28
พิพากษายกคำสั่งศาลล้มละลายกลางที่ยืนตามคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และคำสั่งที่ให้งดการไต่สวนพยาน ให้ศาลล้มละลายกลางดำเนินการไต่สวนและมีคำสั่งใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ.