คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2711/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท โจทก์กู้เงินจากมารดาจำเลยหลายครั้ง โจทก์มอบโฉนดที่ดินให้มารดาจำเลยไว้เป็นประกัน ต่อมามารดาจำเลยแจ้งว่าโจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและในวันเดียวกันนั้น โจทก์กับจำเลยก็ได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทที่บ้านของมารดาจำเลยในราคา 180,410 บาท เจตนาของโจทก์จำเลยที่แท้จริง คือต้องการขายฝากที่ดินพิพาท โจทก์จำเลยมิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาท สัญญาขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้ก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 155 วรรคสองและมาตรา 152 เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับต่างตกเป็นโมฆะคู่สัญญาคือโจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ คือ โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย และจำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิเสธในยอดหนี้ที่มารดาจำเลยกล่าวอ้าง อีกทั้งยอมไถ่ถอนที่ดินพิพาทในราคา 180,410 บาท ตามคำขอท้ายฟ้อง ต้องถือว่ามีการรับเงินหรือหักกลบลบหนี้กันตามจำนวนดังกล่าว เมื่อสัญญาตกเป็นโมฆะโจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวน 180,410 บาท แก่จำเลย แต่จำเลยฎีกาขอให้โจทก์คืนเงินเพียง 180,000 บาท ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปจากคำขอฎีกาของจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๔๖๑๔ ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ระหว่างโจทก์ จำเลย ฉบับลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๙ (ที่ถูก ๒๕๒๙) เป็นนิติกรรมที่ทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมขายฝากจึงตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย ต้องบังคับตามนิติกรรมขายฝาก โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และให้จำเลยรับชำระหนี้ ๑๘๐,๔๑๐ บาท จากโจทก์ กับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดลพบุรีคืนให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า สัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๖๑๔ ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ระหว่างโจทก์กับจำเลย ฉบับลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๙ เป็นโมฆะ ให้จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์คืนเงิน ๖๓,๐๐๐ บาท แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลอุทธรณ์ภาค ๒ รับรอง
ศาลฎีกาพิพากษาว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๔๖๑๔ ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี เนื้อที่ ๑๔ ไร่ ๒ งาน โจทก์กู้เงินจากนางแอ๊ว จงจิราวโรจน์ หรือชะนะวานิชย์ มารดาจำเลยหลายครั้งรวมเป็นเงิน ๖๓,๐๐๐ บาท โจทก์มอบโฉนดที่ดินให้มารดาจำเลยไว้เป็นประกันและชำระดอกเบี้ยบางส่วน มารดาจำเลยแจ้งว่าโจทก์ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งสิ้น ๑๘๐,๔๑๐ บาท ต่อมาวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๒๙ โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ ๔๖๑๔ ในราคา ๑๘๐,๐๐๐ บาท ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย ล. ๓ ในวันเดียวกันนั้นโจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทที่บ้านของมารดาจำเลยในราคา ๑๘๐,๔๑๐ บาท ตามสัญญาเอกสารหมาย จ. ๒ และ ล. ๑ มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญาขายที่ดินพิพาทหรือขายฝากต่อกัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยเจตนาทำสัญญาขายฝากที่ดินพิพาทตามสัญญาเอกสารหมาย จ. ๒ มิได้มีเจตนาที่จะผูกพันตามสัญญาขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย ล. ๓ สัญญาขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๕ วรรคหนึ่ง ส่วนสัญญาขายฝากที่ถูกอำพรางไว้โดยสัญญาขายก็ตกเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๕๕ วรรคสอง และมาตรา ๑๕๒ เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับต่างตกเป็นโมฆะคู่สัญญาคือโจทก์จำเลยต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีต้องบังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้ คือโจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลย จำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้โจทก์ ปัญหาคงมีว่า โจทก์ต้องคืนเงินให้จำเลยเท่าใด เห็นว่า แม้ตามฟ้องโจทก์จะอ้างว่ากู้เงินจำเลยเพียง ๖๓,๐๐๐ บาท ค้างชำระดอกเบี้ย ๙๐,๐๐๐ บาท แต่โจทก์ก็มิได้นำสืบว่าเหตุใดจึงยอมรับตามที่มารดาจำเลยกล่าวอ้างว่า โจทก์ค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ยรวม ๑๘๐,๔๑๐ บาท นอกจากนั้นโจทก์ได้ร้องเรียนต่อกรมอัยการกล่าวอ้างว่าโจทก์กู้เงินจำเลย ๘๐,๐๐๐ บาท ตามเอกสารหมาย จ. ๓ ข้อเท็จจริงจึงไม่แน่ชัดว่าโจทก์ค้างชำระเงินต้นเท่าใดและดอกเบี้ยเท่าใด แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ปฏิเสธในยอดหนี้ที่มารดาจำเลยกล่าวอ้าง อีกทั้งยอมไถ่ถอนที่ดินพิพาทในราคา ๑๘๐,๔๑๐ บาท ตามคำขอท้ายฟ้อง ต้องถือว่ามีการรับเงินหรือหักกลบลบหนี้กันตามจำนวนดังกล่าว เมื่อสัญญาตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงต้องคืนเงินจำนวน ๑๘๐,๔๑๐ บาท แก่จำเลย มิใช่ ๖๓,๐๐๐ บาท ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัย แต่เนื่องจากจำเลยฎีกาขอให้โจทก์คืนเงินเพียง ๑๘๐,๐๐๐ บาท ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาเกินไปจากคำขอฎีกาของจำเลยได้ ฎีกาของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์คืนเงิน ๑๘๐,๐๐๐ บาท แก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒.

Share