คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2651/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องให้ล้มละลายต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 7 โดยลูกหนี้ต้องมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร หรือประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่มีการขอให้ล้มละลายหรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น แม้ตามอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินเดียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ข้อ 5 อนุ 4 ที่โจทกอ้างจะถือได้ว่าจำเลยมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย แต่คำว่า “สถานประกอบการถาวร” ตามอนุสัญญาดังกล่าว ข้อ 5 อนุ 1 และ 2 หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน และหมายความรวมถึง (ก) สถานจัดการ (ข) สาขาสำนักงาน (ง) โรงงาน (จ) โรงช่าง…และตามอนุ 4 (ค) หมายถึง บุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับคำสั่งซื้อซึ่งกระทำในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับลักษณะของการดำเนินการในการประกอบธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรแก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย ตาม พ.ร.ฏ. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ไม่เกี่ยวกับระยะเวลาในการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด แต่เมื่อจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพราะใบอนุญาตสิ้นอายุไปแล้ว จึงไม่มีการประกอบธุรกิจ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีภูมิลำเนาในประเทศไทย ส่วนการประกอบธุรกิจในประเทศนั้น เมื่อใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสิ้นอายุแล้ว จำเลยไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปอีกได้ ทั้งจำเลยปิดการประกอบธุรกิจไปแล้ว และโจทก์เพิ่งฟ้องคดีหลังจากจำเลยยื่นอุทธรณ์การประเมินเกือบ 10 ปี จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรในขณะที่มีการขอให้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ ๑๕๐ บาท ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ณ ประเทศอินเดีย และเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยจดทะเบียนการค้าไว้กับโจทก์ ตามหนังสือรับรองรายการในทะเบียนการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวเอกสารหมาย จ.๒ เมื่อปี ๒๕๓๑ โจทก์ตรวจสอบพบว่าจำเลยผู้ประกอบการค้ายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าไม่ถูกต้องโดยภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๕ ต้องชำระเพิ่มอีก ๔๖๙,๓๘๐.๐๘ บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเอกสารหมาย จ.๓ และในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวจำเลยจำหน่ายเงินกำไรและเงินที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย เป็นเงินภาษีที่จะต้องชำระรวม ๗๕๒,๖๗๑.๖๖ บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลเอกสารหมาย จ.๔ ภาษีการค้าในรอบระยะเวลาตั้งแต่เดือนเมษายนถึงเดือนธันวาคม ๒๕๒๔ จำเลยยื่นไว้ไม่ถูกต้อง ต้องเสียเพิ่มอีก ๕๓๗,๖๙๗.๑๘ บาท และในรอบระยะเวลาตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ๒๕๒๕ ต้องเสียเพิ่มอีก ๒,๙๗๒,๗๕๓.๒๖ บาท ตามหนังสือแจ้งภาษีการค้าเอกสารหมาย จ.๕ และ จ.๖ รวมเป็นเงินที่จำเลยต้องชำระทั้งสิ้น ๔,๗๓๒,๕๐๒.๑๘ บาท เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีให้จำเลยทราบและให้จำเลยชำระภายใน ๓๐ วัน ตามหนังสือแจ้งให้นำเงินภาษีอากรไปชำระและใบตอบรับทางไปรษณีย์เอกสารหมาย จ.๗ และ จ.๘ จำเลยอุทธรณ์คัดค้านการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเงินที่จะต้องชำระลงเหลือ ๒,๖๒๓,๘๕๓.๕๓ บาท ตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ลงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๘ รวม ๔ ฉบับ เอกสารหมาย จ.๙ โจทก์แจ้งไปยังจำเลยแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ก่อนหน้านี้โจทก์เคยแจ้งให้จำเลยนำเงินภาษีอากรค้างชำระไปชำระให้แก่โจทก์แล้ว ๓ ครั้ง ตามหนังสือลงวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๓๑, ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๑ และ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ เอกสารหมาย จ.๑๐ จ.๑๒ และ จ.๑๓ กับใบตอบรับทางไปรษณีย์เอกสารหมาย จ.๑๑ แต่จำเลยยังไม่ชำระ จำเลยปิดสถานที่ประกอบธุรกิจเพื่อประวิงการชำระหนี้และเพื่อมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ โจทก์ตรวจสอบหาทรัพย์สินของจำเลยแล้ว จำเลยไม่มีทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่าจำเลยมิได้ประกอบธุรกิจในราชาอาณาจักรในขณะที่มีการขอให้ล้มละลายหรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้นชอบหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า ตามอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐอินเดีย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ข้อ ๕ สถานประกอบการ อนุ ๔ บัญญัติว่า ” แม้จะมีบทบัญญัติของวรรคก่อน ๆ อยู่ บุคคล (นอกเหนือจากนายหน้า ตัวแทนการค้าทั่วไปหรือตัวแทนอื่นใดที่มีสถานภาพเป็นอิสระซึ่งอยู่ในบังคับของวรรค ๕) ซึ่งกระทำในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่ง จะถือว่าเป็นสถานประกอบการถาวรของรัฐผู้ทำสัญญารัฐแรก ถ้า…(ค) บุคคลนั้นจัดหาในรัฐที่กล่าวถึงรัฐแรกอย่างเป็นปกติวิสัย ซึ่งคำสั่งซื้อทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเพื่อวิสาหกิจนั้นเองหรือเพื่อวิสาหกิจนั้นและวิสาหกิจอื่นซึ่งอยู่ในความควบคุมของวิสาหกิจนั้น หรือมีผลประโยชน์ควบคุมอยู่ในวิสาหกิจนั้น” ดังนั้นจำเลยจึงมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยโดยผลของอนุสัญญาดังกล่าว แม้จะสิ้นสุดระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ ก็ถือว่าจำเลยมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรและยังประกอบธุรกิจในราชอาณาจักร โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายได้นั้น เห็นว่า การฟ้องให้ล้มละลายต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๗ โดยลูกหนี้ต้องมีภูมิลำเนาในราชอาณาจักร หรือประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรไม่ว่าด้วยตนเองหรือโดยตัวแทนในขณะที่มีการขอให้ล้มละลายหรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น ฉะนั้น แม้ตามอนุสัญญาที่โจทก์อ้างจะถือได้ว่าจำเลยมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย แต่คำว่า “สถานประกอบการถาวร” ตามอนุสัญญาดังกล่าว ข้อ ๕ อนุ ๑ และ ๒ หมายถึง สถานธุรกิจประจำซึ่งวิสาหกิจใช้ประกอบธุรกิจทั้งหมดหรือแต่บางส่วน และหมายความรวมถึง (ก) สถานจัดาการ (ข) สาขา (ค) สำนักงาน (ง) โรงงาน (จ) โรงช่าง…และตามอนุ ๔ (ค) หมายถึง บุคคลซึ่งดำเนินการเกี่ยวกับคำสั่งซื้อซึ่งกระทำในรัฐผู้ทำสัญญารัฐหนึ่งในนามของวิสาหกิจของรัฐผู้ทำสัญญาอีกรัฐหนึ่งอันเป็นเรื่องเกี่ยวกับลักษณะของการดำเนินการในการประกอบธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการยกเว้นภาษีอากรตามประมวลรัษฎากรแก่บุคคลตามสัญญาว่าด้วยการเว้นการเก็บภาษีซ้อนที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลสาธารณรัฐอินเดีย ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๐๕ ไม่เกี่ยวกับระยะเวลาในการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด แต่เมื่อจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพราะใบอนุญาตสิ้นอายุไปแล้ว จึงไม่มีการประกอบธุรกิจ ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีภูมิลำเนาในประเทศไทย ส่วนการประกอบธุรกิจในประเทศไทยนั้น เมื่อใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสิ้นอายุลงแล้ว จำเลยไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปอีกได้ ทั้งโจทก์ก็นำสืบว่าจำเลยปิดการประกอบธุรกิจไปแล้วและการยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีอากรต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็กระทำตั้งแต่วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๓๑ อยู่ในระหว่างอายุการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๓๓ แต่โจทก์เพิ่งฟ้องคดีเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๔๑ หลังจากจำเลยยื่นอุทธรณ์การประเมินเกือบ ๑๐ ปี จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยประกอบธุรกิจในราชอาณาจักรในขณะที่มีการขอให้ล้มละลาย หรือภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมขึ้นฎีกาให้เป็นพับ

นายเอื้อน ขุนแก้ว ผู้ช่วยฯ
นางสาวสุดรัก สุขสว่าง ย่อ
นายไพโรจน์ โรจน์อภิรักษ์กุล ตรวจ
นายชีพ จุลมนต์ ผู้ช่วยฯ/ตรวจ

Share