คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2730/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 ลงชื่อไว้ระบุว่าค้ำประกันเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท และในบันทึกต่ออายุสัญญาทั้งสองครั้งได้ระบุเท้าความถึงสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ในครั้งแรกจำนวน 30,000 บาท แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ที่ 4 มีเจตนาค้ำประกันการกู้เงินของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 30,000 บาทเท่านั้น แม้สัญญาค้ำประกันมีข้อความว่าผู้ค้ำประกันยอมรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้กู้ทั้งสิ้นก็มีความหมายแต่เพียงว่าผู้ค้ำประกันจะอ้างสิทธิพิเศษนอกเหนือไปจากผู้กู้ อาทิเช่น ยกข้อต่อสู้ซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้หรือเกี่ยงให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนไม่ได้เท่านั้น มิได้หมายความว่าจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่ากับตัวลูกหนี้ และที่สัญญาค้ำประกันมีข้อความต่อไปว่า ไม่ว่ายอดหนี้ตามบัญชีจะต่ำกว่าหรือสูงขึ้นจากที่ระบุไว้ในสัญญา ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้ และผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดแม้ว่าเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ได้เบิกเงินเกินบัญชีไปหลังจากครบกำหนดอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้ว คงมีความหมายเพียงว่า ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในดอกเบี้ยที่เกิดจากต้นเงินในวงเงินที่ค้ำประกันไว้จำนวน 30,000 บาท ด้วยเท่านั้น หาใช่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชำระหนี้แทนลูกหนี้โดยไม่จำกัดจำนวนไม่ ดังนั้น จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในวงเงินที่ค้ำประกันจำนวน30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
ปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันว่า นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามบันทึกเพิ่มเติมต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่โจทก์คิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายก่อนทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินตามสัญญาดังกล่าว จำเลยที่ 1 ไม่ได้เบิกเงินอีกเลย และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีก คงมีแต่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้ตามยอดเงินที่ค้างชำระในระหว่างนั้นรวม 8 ครั้ง เป็นเงิน 6,000 บาทโดยไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกันในระหว่างโจทก์จำเลยที่ 1 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนี้ พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์จำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกันอีกต่อไป ถือว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงนับแต่วันครบกำหนดตามบันทึกเพิ่มเติมต่ออายุสัญญาครั้งสุดท้าย ตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 856โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ต่อไปอีกนับแต่วันถัดจากวันสิ้นสุดสัญญาคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตั้งแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์จนถึงวันสิ้นสุดสัญญาเท่านั้น และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตั้งแต่วันถัดจากวันสิ้นสุดสัญญาไปจนกว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๓ ต่อมาวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ในวงเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ตกลงจะผ่อนชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๒๕ ธันวาคม๒๕๒๔ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นภรรยาของจำเลยที่ ๑ ทำหนังสือให้สัตยาบันและให้ความยินยอมในการที่จำเลยที่ ๑ ทำนิติกรรมกับโจทก์ โดยจำเลยที่ ๒ ยอมเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๓ที่ ๔ ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ ๑ เดินสะพัดบัญชีกับโจทก์จนครบกำหนดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีแล้ว จำเลยที่ ๑ ได้ขอต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีออกไปอีก ๒ ครั้ง จนถึงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๖ ในวงเงินเดิม โดยมีจำเลยที่ ๒ ให้ความยินยอมและจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ เป็นผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมเช่นเดิม ต่อมามีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ ๑๙ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๔ ไม่เกินร้อยละ๑๗.๕ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ และไม่เกินร้อยละ ๑๙ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๒๗ซึ่งจำเลยที่ ๑ ก็ได้ยินยอมตกลงด้วย เมื่อครบกำหนดที่ต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันที่ ๒๕ธันวาคม ๒๕๒๖ จำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ที่ค้างแก่โจทก์ โจทก์หักทอนบัญชีเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๙ปรากฏว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ ๖๔,๓๔๘.๒๑ บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสี่เพิกเฉยโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันหักทอนบัญชี และคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงิน๖๔,๓๔๘.๒๑ บาท โดยไม่ทบต้น ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๙ จนถึงวันฟ้องคือวันที่ ๘ พฤษภาคม๒๕๒๙ เป็นค่าดอกเบี้ย ๑,๐๐๔.๘๘ บาท รวมกับต้นเงินเป็นเงิน ๖๕,๓๕๓.๐๙ บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน ๖๕,๓๕๓.๐๙ บาท และดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงิน๖๔,๓๔๘.๒๑ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ไม่ต้องรับผิดในต้นเงินและดอกเบี้ยตามจำนวนที่ฟ้อง แต่ต้องร่วมกันรับผิดเพียงต้นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทและดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๙ จนกว่าจะชำระเสร็จ เพราะต้นเงิน๖๕,๓๕๓.๐๙ บาท กับดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๖๔,๓๔๘.๒๑ บาท นั้น โจทก์คิดจากบัญชีกระแสรายวันซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ รับผิดต่อโจทก์โดยอาศัยสัญญาค้ำประกัน ซึ่งระบุว่าค้ำประกันจำนวนเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ย โดยไม่มีข้อสัญญาเรื่องดอกเบี้ยทบต้น จึงต้องคิดอย่างธรรมดา เมื่อจำเลยที่ ๑ เบิกเงินครบ ๓๐,๐๐๐ บาท โจทก์ไม่ได้แจ้งยอดหนี้ให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ทราบ เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ชำระเงินตามที่ได้ค้ำประกันไว้ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เพิ่งได้รับหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๙จึงมีหน้าที่ต้องร่วมกันชำระเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท และดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๒๕เมษายน ๒๕๒๙ อันเป็นวันครบกำหนด ๗ วัน ตามหนังสือทวงถามถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๑๖๐.๓๐ บาทขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์เพียง ๓๐,๑๖๐.๓๐ บาทนอกจากนี้ขอให้ยก
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน ๖๔,๓๔๘.๒๑ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๙ จนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ที่ ๒ ในต้นเงินเพียง ๓๐,๐๐๐ บาท และดอกเบี้ยร้อยละ ๑๗.๕ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๖ร้อยละ ๑๙ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๒๗ ร้อยละ ๑๗ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๒ มกราคม ๒๕๒๙และร้อยละ ๑๕ ต่อปี ตั้งแต่วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๒๙ จนถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๒๓จำเลยที่ ๑ ขอเปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารโจทก์ ต่อมาวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์ในวงเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๒ซึ่งเป็นภรรยาจำเลยที่ ๑ ทำหนังสือให้สัตยาบันและให้ความยินยอม และในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ขอต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ๒ ครั้งครั้งสุดท้ายครบกำหนดวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๖ จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ลงลายมือชื่อตกลงด้วยในบันทึกต่ออายุสัญญาทั้งสองครั้ง จำเลยที่ ๑ เดินสะพัดบัญชีกับโจทก์จนครบกำหนดอายุสัญญาที่ขอต่อนั้นแล้วก็ยังคงเดินสะพัดบัญชีกับโจทก์ต่อไปอีก จำเลยที่ ๑ เดินสะพัดบัญชีกับโจทก์ครั้งสุดท้ายโดยจำเลยที่ ๑ มีเงินเข้าบัญชีเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๒๘ จำนวนเงิน ๒๐๐ บาท หลังจากนั้นจำเลยที่ ๑ ก็ขาดการติดต่อไม่ได้เดินสะพัดบัญชีกับโจทก์อีก โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันหักทอนบัญชีคือวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๙ ซึ่งในวันนั้นจำเลยที่ ๑ เป็นหนี้โจทก์ ๖๔,๓๔๘.๒๑ บาท
ปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกามีว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ที่ ๒ ต่อโจทก์ในจำนวนเงินเท่าใด ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระบุจำนวนเงินที่จำเลยที่ ๑ กู้ไว้ ๓๐,๐๐๐ บาท ผู้กู้จะผ่อนชำระให้หมดสิ้นภายในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๔ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ขอต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ๒ ครั้ง ครั้งแรกถึงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๕ครั้งสุดท้ายถึงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๖ โดยจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ลงชื่อตกลงในบันทึกต่ออายุสัญญาทั้งสองครั้ง สัญญาค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ลงชื่อไว้ระบุว่าค้ำประกันเป็นจำนวนเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท และในบันทึกต่ออายุสัญญาทั้งสองครั้งได้ระบุเท้าความถึงสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ ๑ ทำไว้กับโจทก์ในครั้งแรก แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ มีเจตนาค้ำประกันการกู้เงินของจำเลยที่ ๑ ในวงเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท เท่านั้น แม้สัญญาค้ำประกันข้อ ๑ มีข้อความว่าผู้ค้ำประกันยอมรับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้กู้ทั้งสิ้น ก็มีความหมายแต่เพียงว่าผู้ค้ำประกันจะอ้างสิทธิพิเศษนอกเหนือไปจากผู้กู้ อาทิเช่น ยกข้อต่อสู้ซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้หรือเกี่ยงให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนไม่ได้เท่านั้น มิได้หมายความว่าจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่ากับตัวลูกหนี้ และที่สัญญาค้ำประกันดังกล่าวข้อ ๑ มีข้อความว่า ไม่ว่ายอดหนี้ตามบัญชีจะต่ำกว่าหรือสูงขึ้นจากที่ระบุไว้ในสัญญา ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้ และข้อ ๕มีข้อความระบุว่า ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิด แม้ว่าเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ได้เบิกเงินเกินบัญชีไปหลังจากครบกำหนดอายุสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อสัญญาดังกล่าวมีความหมายเพียงว่า ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดในดอกเบี้ยที่เกิดจากต้นเงินในวงเงินที่ค้ำประกันไว้จำนวน๓๐,๐๐๐ บาท ด้วยเท่านั้น หาใช่ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชำระหนี้แทนลูกหนี้โดยไม่จำกัดจำนวนไม่ดังนั้น จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในวงเงินที่ค้ำประกันจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ย
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปคือ ดอกเบี้ยที่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ดังกล่าว โจทกมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นหรือคิดได้แต่ดอกเบี้ยธรรมดา หากคิดได้ คิดได้แต่วันใด ปัญหานี้ปรากฏตามบัญชีกระแสรายวันว่า นับแต่วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดตามบันทึกเพิ่มเติมต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีครั้งสุดท้ายจนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม๒๕๒๙ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์คิดหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายก่อนทวงถามให้จำเลยทั้งสี่ชำระเงินตามสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เบิกเงินอีกเลย และไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยอมให้จำเลยที่ ๑ เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีก คงมีแต่จำเลยที่ ๑ ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้ตามยอดเงินที่ค้างชำระในระหว่างนั้นรวม๘ ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น ๖,๐๐๐ บาท โดยจำเลยที่ ๑ นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๒๘ จำนวน ๒๐๐ บาท โดยไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกันในระหว่างโจทก์จำเลยที่ ๑ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด ดังนี้ พฤติการณ์แสดงว่าโจทก์จำเลยที่ ๑ ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป ถือว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตามบันทึกเพิ่มเติมต่ออายุสัญญาครั้งสุดท้าย ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๕๖ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ต่อไปอีกนับแต่วันถัดจากวันสิ้นสุดสัญญา คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๔ อันเป็นวันที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากโจทก์จนถึงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๖ อันเป็นวันสิ้นสุดสัญญาเท่านั้น และโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นจากจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ตั้งแต่วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๒๖ ซึ่งเป็นวันถัดจากวันสิ้นสุดสัญญาไปจนกว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จะชำระเสร็จแก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ในต้นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์๒๕๒๔ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๒๔ ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๙ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๒๔ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๒๖ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ถึงวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๖ โดยวิธีทบต้นตามประเพณีของธนาคารตามบัญชีกระแสรายวัน ทั้งนี้ไม่เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ตามบัญชีกระแสรายวันดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share