แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ฯ เป็นการเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวง จึงต้องตกอยู่ในบังคับแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 และการกำหนดค่าทดแทนจะต้องถือตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงดังกล่าวใช้บังคับ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ข้อ 76 (2) ไม่ใช่ถือตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดในวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 23 ใช้บังคับ เพราะพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวออกมาใช้บังคับแทนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 23 ซึ่งหมดอายุบังคับใช้ และมิได้ถือตามราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ในการกำหนดค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนให้แก่โจทก์ จำเลยไม่ได้ถือตามราคาที่ดินในวันที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงสายรัชดาภิเษก ฯ พ.ศ.๒๕๒๔ ใช้บังคับทำให้โจทก์ได้รับค่าทดแทนต่ำไป ขอให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนในส่วนที่ต่ำไปดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยได้กำหนดค่าทดแทนตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมซึ่งเป็นธรรมแก่โจทก์แล้วขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งสองใช้เงิน ๑๘๒,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ จนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ ๖๔๐๖๗ เลขที่ดิน ๑๔๘๙ตำบลคลองตัน (ที่ ๑๑ พระนครฝั่งเหนือ) อำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร เนื้อที่ ๑๓ ตารางวาพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารคอนกรีต ๓ ชั้น เลขที่ ๓/๒ แขวงคลองเตย เขตพระโขนง กรุงเทพ-มหานคร เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๑๔ รัฐบาลได้ออกประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๓ ลงวันที่ ๑๘ธันวาคม ๒๕๑๔ กำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงแผ่นดินสายรัชดาภิเษกตอนตำบลวัดท่าพระ -ตำบลสามเสนนอก ให้มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในมาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พุทธศักราช ๒๔๘๒ ต่อมาวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๒๔ มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ – แขวงสามเสนนอก พ.ศ.๒๕๒๔ และเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๒๖ ได้ออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ฯ พ.ศ.๒๕๒๖ ที่ดินและตึกของโจทก์อยู่ในเขตที่ดินที่ถูกเวนคืนด้วย คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้โจทก์ตารางวาละ๖,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๗๘,๐๐๐ บาท และกำหนดเงินค่าทดแทนในการรื้อถอนอาคารที่ปลูกในที่ดินให้โจทก์เป็นเงิน ๓๔๙,๒๙๔.๑๐ บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนสำหรับที่ดินตามที่คณะกรรมการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดไปแล้ว แต่สงวนสิทธิที่จะเรียกร้องเอาส่วนที่ยังขาดอยู่ ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยทั้งสองประการแรกมีว่า เงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ควรจะถือเอาราคาทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาด วันเดือนและปีใดเป็นเกณฑ์กำหนด เห็นว่าการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ที่เกิดข้อพิพาทเป็นการเวนคืนตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ในท้องที่แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ แขวงตลาดพลู แขวงบุคคโลเขตธนบุรี แขวงคลองเตย เขตพระโขนง แขวงสามเสนใน เขตพญาไท แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวางแขวงลาดยาว เขตบางเขน และแขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร พ.ศ.๒๕๒๖ โดยมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงสายดังกล่าวไว้ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ – แขวงสามเสนนอกพ.ศ.๒๕๒๘ เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๒๔ จึงตกอยู่ในบังคับแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ลงวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ซึ่งมีบทบัญญัติในข้อ ๖๓ ให้นำกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์มาใช้โดยอนุโลม เว้นแต่ที่ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ แต่ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ฯ พ.ศ.๒๕๒๖ ไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในเรื่องเงินค่าทดแทนไว้จึงต้องนำประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ดังกล่าวเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างหรือขยายทางหลวงมาใช้บังคับ ซึ่งได้บัญญัติไว้ในข้อ ๗๖ ว่า “เงินค่าทดแทนนั้น ถ้าไม่มีบทบัญญัติเป็นพิเศษในพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งออกตามข้อ ๖๓ แล้วให้กำหนดเท่าราคาของทรัพย์สินตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันดังต่อไปนี้ (๑) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนใช้บังคับ (๒) ในวันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงใช้บังคับ ในกรณีที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาเช่นว่านั้น (๓) ในวันที่พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ใช้บังคับ ในกรณีที่ได้ตราพระราชบัญญีติเช่นว่านั้น” เห็นได้ว่าวิธีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ข้อ ๖๓ ข้อ ๗๐ และข้อ ๗๘ มีวิธีปฏิบัติคือจะต้องกระทำโดยออกพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แต่ทางราชการอาจจะออกหรือตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ดินที่ที่จะเวนคืน หรือพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงก่อนก็ได้ และในกรณีเช่นนี้การกำหนดเงินค่าทดแทนจึงให้ถือเอาราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดตามข้อ ๗๖ (๑) หรือ (๒) แล้วแต่กรณี เมื่อปรากฏว่าในการเวนคืนที่ดินของโจทก์คดีนี้ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ – แขวงสามเสนนอกพ.ศ.๒๕๓๔ ออกใช้บังคับ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๔ ให้มีผลใช้บังคับวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ ดังนั้นราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดต้องถือราคาในวันที่ ๒๐ธันวาคม ๒๕๒๔ จำเลยจะกำหนดเงินค่าทดแทนโดยถือตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๔ อันเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๓ มีผลใช้บังคับหาได้ไม่ เพราะประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๓ มีผลใช้บังคับเช่นเดียวกับพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่ออกตามความในมาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ.๒๔๘๒ ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว จึงต้องตกอยู่ในบังคับแห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ข้อ ๗๙ ที่ให้ใช้ได้มีกำหนด ๑๐ ปี ดังนั้นประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๓ จึงหมดอายุบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๔ การที่ได้มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดแนวทางหลวงที่จะสร้างทางหลวงเทศบาลสายรัชดาภิเษก ตอนแขวงวัดท่าพระ -แขวงสามเสนนอก พ.ศ.๒๕๒๔ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ เป็นต้นไป จึงเป็นการออกเพื่อใช้บังคับแทนประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๓ ที่ใกล้จะสิ้นผลแล้วนั่นเอง หาใช่เป็นการต่ออายุการบังคับใช้อันเป็นการขัดต่อประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๕ ข้อ ๗๙ แต่ประการใดไม่ ที่จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ตามราคาธรรมดาที่ซื้อขายในท้องตลาดของปี ๒๕๑๔ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๓ ที่สิ้นผลบังคับแล้ว จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ ทั้งจะกำหนดค่าทดแทนโดยถืออราคาที่ดินตามบัญชีกำหนดจำนวนราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อใช้เป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ก็ไม่ชอบด้วยความเป็นธรรมเช่นกัน เพราะเป็นราคาที่กำหนดไว้เพื่อให้เจ้าพนักงานของรัฐใช้เป็นทุนทรัพย์ที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม หาใช่ราคาธรรมดาที่ซื้อขายกันในท้องตลาดของบุคคลทั่วไปไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น ฯลฯ
พิพากษายืน.