แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เป็นหุ้นส่วนนำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดมาลงทุนเข้าหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด จึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล เพียงแต่ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตกเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวตั้งแต่เวลาที่นำมาลงหุ้นแล้ว แม้จะไม่มีการจดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินพิพาทนั้นก็ตาม (อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 84/2512)
ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกับห้าง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1030 นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการส่งมอบตัวทรัพย์ มิได้เกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิ์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดผู้ล้มละลายใช้สิทธิของห้างในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิที่จะติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือได้เสมอโดยไม่มีอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๒๕ ห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์ถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย นางสาววรรณา พูลวรลักษณ์ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดนำเงินสดและนำที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๗๔๗ กับที่ดินแปลงอื่นซึ่งจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันมาลงหุ้นโดยตีราคาที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๗๔๗ เป็นเงิน ๒๒๔,๐๐๐ บาท ยอมยกทรัพย์สินที่เข้าหุ้นเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์ทั้งหมดตั้งแต่ยื่นขอจดทะเบียนตั้งห้าง แต่ไม่สามารถจดทะเบียนโอนให้ได้เพราะห้างยังไม่เป็นนิติบุคคล จะจดทะเบียนโอนเมื่อห้างเป็นนิติบุคคลแล้ว ต่อมาเมื่อห้างเป็นนิติบุคคลแล้วก็มิได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่นำมาลงหุ้นนั้นให้แก่ห้างแต่อย่างใด เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๑๘จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๗๔๗ พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ ๔ ต่อมาวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๒๒ จำเลยที่ ๔ ได้ขายต่อให้จำเลยที่ ๕ และในวันเดียวกันนั้นจำเลยที่ ๕ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวแก่จำเลยที่ ๖ เพื่อเป็นประกันเงินกู้หรือหนี้เบิกเกินบัญชี๓๐๐,๐๐๐ บาท การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์ไม่อาจครอบครองและใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวได้ ขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนการขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๗๔๗ ระหว่างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ผู้ขายกับจำเลยที่ ๔ ผู้ซื้อ ระหว่างจำเลยที่ ๔ ผู้ขายกับจำเลยที่ ๕ ผู้ซื้อ และระหว่างจำเลยที่ ๕ กับจำเลยที่ ๖ ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์ หากไม่ไปจดทะเบียนโอนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ใช้ราคา ๒๒๔,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ให้การใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสามได้ตกลงจะนำที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๗๔๗ ไปลงหุ้นกับห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์เท่านั้น แต่ยังไม่เคยส่งมอบที่ดินหรือมอบการครอบครองหรือจดทะเบียนโอนให้ ห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์จึงยังไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าว เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์เป็นนิติบุคคลแล้วก็มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสามโอนที่ดินให้ จำเลยทั้งสามได้ถอนหุ้นคือที่ดินพิพาทต่อกระทรวงพาณิชย์แล้วสิทธิของห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์ที่เรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นไปจดทะเบียนโอนที่ดินเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์ตามข้อตกลงจึงระงับลง จำเลยทั้งสามจึงมีสิทธิโอนขายได้ สิทธิเรียกร้องให้โอนที่ดินของห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์มีตั้งแต่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลคือวันที่ ๔มิถุนายน ๒๕๑๘ นับถึงวันฟ้องเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ถือว่าอายุความสิ้นสุดลงแล้ว การจดทะเบียนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ กับจำเลยที่ ๔ ได้กระทำโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและกระทำก่อนระยะเวลา ๓ ปีก่อนมีการขอให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์ล้มละลาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนได้ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ ๕ ให้การว่า จำเลยที่ ๕ ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๗๔๗ จากจำเลยที่ ๔ต่อมาวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๒๒ จึงได้รับโอนที่ดินพร้อมตึกแถวจากจำเลยที่ ๔ และได้จำนองไว้กับจำเลยที่ ๖ เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้หรือหนี้เบิกเงินเกินบัญชี จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ดังกล่าว จำเลยที่ ๕ ไม่ทราบว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปลงหุ้นกับห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์ เพราะมิได้ทำสัญญาและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ ๕ เป็นบุคคลภายนอกรับโอนมาโดยสุจริต มีค่าตอบแทน และกระทำขึ้นก่อนระยะเวลา ๓ ปีที่จะมีการขอให้ห้างหุ้นส่วน-จำกัดพระโขนงสแควร์ล้มละลาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้ ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ ๖ ให้การว่า จำเลยที่ ๕ เป็นลูกค้าของจำเลยที่ ๖ โดยเปิดบัญชีกระแสรายวันและมีวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๒๒ จำเลยที่ ๕ ขอเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีเพื่อนำไปซื้อที่ดินและตึกแถว จำเลยที่ ๖ อนุมัติ ในวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๒๒ จำเลยที่ ๕ จึงได้ซื้อที่ดินพิพาทพร้อมตึกแถวจากจำเลยที่ ๔ ในราคา ๔๐๐,๐๐๐ บาท และในวันเดียวกันก็ได้จำนองที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ ๖ เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้หรือหนี้เบิกเงินเกินบัญชี จำนวน ๓๐๐,๐๐๐ บาทจำเลยที่ ๕ รับโอนที่ดินพิพาทและจำเลยที่ ๖ รับจำนองที่ดินพิพาท โดยสุจริต มีค่าตอบแทน จำเลยที่ ๖รับจำนองโดยไม่ทราบว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว จำเลยที่ ๖ จึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ร่วมกันชำระเงินจำนวน๒๒๔,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๔ ที่ ๕ และที่ ๖
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า การที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓นำที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดมาลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์ แต่ไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจะตกเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ได้ตกลงนำที่ดินพิพาทมาลงหุ้นตั้งแต่ห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์ยังมิได้จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ในขณะนั้นห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์จึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล แต่ถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๗๙ เมื่อจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ นำที่ดินพิพาทมาลงหุ้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๔/๒๕๑๒ระหว่างบริษัทเทพพาณิชย์ จำกัด โจทก์ นายทองเอี๋ยว แซ่ลี้ จำเลย ที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกาว่าจะต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๐๓๐ มาปรับแก่คดีนั้น เห็นว่า ที่มาตรา ๑๐๓๐บัญญัติว่า ความเกี่ยวพันระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนกับห้างในเรื่องส่งมอบ ให้บังคับตามบทบัญญัติว่าด้วยซื้อขายนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการส่งมอบตัวทรัพย์ หาได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องกรรมสิทธิ์ไม่ ฉะนั้นในระหว่างจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ กับห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์ต้องถือว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทได้ตกเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์ตั้งแต่เวลาที่นำมาลงหุ้นแล้ว จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓หาอาจจะอ้างเอาการไม่จดทะเบียนมาเป็นเหตุว่าที่ดินพิพาทยังคงเป็นของตนได้ไม่ ฎีกาของจำเลยที่ ๑ที่ ๒ ที่ ๓ ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและจำนองในระหว่างจำเลยด้วยกัน เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์ ถ้าเพิกถอนไม่ได้ก็ให้ใช้ราคาแทน ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ใช้สิทธิของห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์ในการติดตามเอาทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนจำกัดพระโขนงสแควร์กลับคืนมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ ซึ่งเจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิที่จะติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือได้เสมอโดยไม่มีอายุความ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน.