คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1232/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุตรบุญธรรมที่มิได้มีการจดทะเบียนตามกฎหมาย ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม
พูดยกที่พิพาทให้ โดยเป็นเรื่องที่สั่งเผื่อไว้เมื่อผู้พูดถึงแก่กรรมแล้ว มิได้ยกให้ในขณะนั้น ถือว่าเป็นพินัยกรรม ถ้าไม่ได้ทำเป็นพินัยกรรมให้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่มีผลแต่อย่างใด
ตกลงยอมแบ่งที่พิพาทกัน แต่ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญา ย่อมไม่มีผลที่บังคับกันได้ตามกฎหมาย

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน
สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดากับนางพริ้ง นางพริ้งตายเมื่อปี ๒๔๙๘ ก่อนตายนางพริ้งมีที่ดิน ๑ แปลง และตกลงยกให้โจทก์ โดยให้โจทก์ชำระหนี้แทนนางพริ้ง ปี ๒๕๐๕ จำเลยไปยื่นขอโอนมรดกที่แปลงนี้ จึงขอให้แสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑-๖ เข้าไปไถนาพิพาทและแย่งการครอบครองของโจทก์ โดยจำเลยที่ ๗ (จำเลยในคดีแรก) เป็นผู้ใช้ ขอให้ศาลขับไล่ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยสำนวนแรกให้การว่าเป็นบุตรบุญธรรมของนางพริ้ง เมื่อนางพริ้งตายได้ตกลงกับโจทก์แบ่งที่พิพาทกัน กรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองที่พิพาทส่วนที่เป็นของจำเลยจึงเป็นของจำเลยโดยชอบ ส่วนจำเลยที่ ๑-๖ ในสำนวนหลังให้การว่าเช่าที่พิพาทจากจำเลยที่ ๗
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้ง ๒ สำนวน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ ให้ขับไล่จำเลยทุกคน และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย
จำเลยทั้ง ๒ สำนวนฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยเป็นบุตรบุญธรรมของนางพริ้ง บทกฎหมายที่จะนำมาปรับแก่คดีจึงต้องใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๘๕ ซึ่งบัญญัติว่า การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย เมื่อไม่มีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะรับมรดกของนางพริ้ง ส่วนข้อที่นางพริ้งพูดยกที่พิพาทให้โจทก์จำเลยคนละครึ่งนั้น เป็นเรื่องที่นางพริ้งสั่งเผื่อไว้เมื่อนางพริ้งถึงแก่กรรมแล้ว มิได้มีการยกที่พิพาทให้ในขณะนั้น คำสั่งนี้จึงถือว่าเป็นพินัยกรรม แต่นางพริ้งไม่ได้ทำเป็นพินัยกรรมให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่มีผลแต่อย่างใด และที่จำเลยฎีกาว่าเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินไปทำการรังวัด โจทก์จำเลยได้ตกลงแบ่งกันคนละครึ่ง จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมแบ่งมรดกแล้วนั้น ศาลฎีกาฟังว่าเจ้าพนักงานที่ดินไม่ได้บันทึกไว้เป็นหนังสือ จึงเห็นว่าการประนีประนอมกันนี้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญา ไม่มีผลที่บังคับกันได้ตามกฎหมาย เมื่อภายหลังโจทก์กลับใจไม่ยอมแบ่งให้จำเลย จำเลยจะอ้างว่าได้ทำการตกลงแบ่งกันแล้วย่อมไม่มีผลตามกฎหมาย และเห็นว่าเมื่อคดีฟังเป็นยุติว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์แล้ว การที่จำเลยเข้าไปทำนาในที่พิพาทโดยไม่มีสิทธิอะไร ก็ย่อมถือว่าเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์
พิพากษายืน.

Share