แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้จัดการโครงการติดตั้งไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 รับเป็นผู้จัดการให้กับ โอ.ไอ.ซี.ซี.ซึ่งเป็นหน่วยราชการของกองทัพเรือสหรัฐ จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการรับจ้างทำงานของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อ โอ.ไอ.ซี.ซี.มีข้อความด้วยว่า “และถ้าหากว่าตัวการ (จำเลยที่1) จะต้องจ่ายเงินให้กับบุคลลใด ๆ อันเป็นบุคคลที่สามโดยทันทีเพื่อค่าอุปกรณ์ ค่าแรงงาน หรือค่าวัสดุเพื่อการดำเนินการในสัญญาตามสัญญานั้น และโดยไม่ต้องมีหนังสือบอกกล่าวการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ค้ำประกันทราบ หนังสือฉบับนี้ยังคงให้มีผลบังคับและให้มีอำนาจบังคับได้และจะสิ้นผลบังคับเมื่อตัวการ (จำเลยที่ 1) ได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยถูกต้องทุกประการแล้ว” ข้อกำหนดนี้เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 เมื่อจำเลยที่ 1 ชำระค่าจ้างจ้างให้โจทก์ไม่ครบตามสัญญาโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ให้โจทก์ตามข้อกำหนดในสัญญานี้ได้
แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะค้ำประกันไม่มีระบุให้ความรับผิดของผู้ค้ำประกันคลุมเลยไปถึง บุคคลที่สามก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญามีข้อความผูกพันตนต่อ โอ.ไอ.ซี.ซี. เพื่อชำระหนี้ให้แก่บุคคลที่สามในเมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้กับบุคคลนั้นสัญญาดังกล่าวนี้ก็เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายแต่ อย่างใดจึงมีผลบังคับได้ หาตกเป็นโมฆะไม่
เมื่อจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 2 มิได้ทำสัญญาค้ำประกันตามสำเนาท้ายฟ้องโจทก์ศาลก็ย่อมรับฟังสัญญาค้ำประกันนั้นได้ โจทก์ไม่จำเป็นต้องส่งต้นฉบับต่อศาลอีก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้จัดการโครงการชื่อว่าสัญญาเอ็น – ๖๓๐๐๘ – ๖๘ – ซี – ๐๒๙๑ การติดตั้งไฟฟ้า ๒ เพส เอฟวาย ๖๗ อาร์ทีเอ็นเอ็มเอพี เอฟเอซี ที่สัตหีบ ประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๑๑ จนงานเสร็จเรียบร้อยตามโครงการวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๑๑ จำเลยที่ ๑ ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์จำเลยที่ ๑ ยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม ๒๕๑๑ เป็นเงิน ๒๑,๐๕๔ บาท และโจทก์จะได้รับค่าจ้างพิเศษอีก ๖๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ จ่ายให้แล้ว ๖,๐๐๐ บาท คงเหลือ ๕๔,๐๐๐ บาท รวมเงินที่ค้างทั้งสิ้น ๗๕,๐๕๔ บาท
จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันสัญญา เอ็น – ๖๓๐๐๘ – ๖๘ – ซี – ๐๒๙๑ ต่อรัฐบาลสหรัฐตามหนังสือค้ำประกันนั้นคลุมถึงจะต้องจ่ายเงินค่าจ้างของลูกจ้าง บริษัทจำเลยที่ ๑ ด้วยตามสำเนาหมาย ๓ ท้ายฟ้อง โจทก์เป็นบุคคลที่สามอันมีสิทธิตามกฎหมายที่จะได้รับประโยชน์ตามสัญญาดังกล่าวและได้แสดงเจตนาขอรับชำระจาก จำเลยที่ ๒ แล้ว โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นให้โจทก์จำเลยทั้งสองเพิกเฉยจึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสอง จ่ายเงินค่าจ้างจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันบอกเลิกสัญญาถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน ๘๓,๔๙๗ บาท และให้ใช้ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน ๗๕,๐๕๔ บาทนับแต่วันฟ้องถึงวันชำระเสร็จให้โจทก์ด้วย
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าตามสัญญาโจทก์จะได้รับค่าจ้างเดือนละ ๘,๐๐๐ บาทเท่านั้น เงินเดือนที่โจทก์ยังไม่ได้รับ ๒๐,๙๐๐ บาท จำเลยบอกกล่าวให้โจทก์ไปรับโจทก์เพิกเฉยโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ ๑ ไม่ได้
จำเลยที่ ๒ ให้การว่าจำเลยที่ ๒ ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ให้กับ โอ.ไอ.ซี.ซี. มิได้ค้ำประกันหนี้ต่อโจทก์สัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องไม่ใช่สัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก หากจำเลยที่ ๑ จะได้ว่าจ้างจริงก็ได้ชำระค่าจ้างเรียบร้อยแล้ว ถ้ายังไม่ชำระก็เป็นความผิดของโจทก์ที่ทำงานบกพร่องเสียหายโจทก์ชอบที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ ๑ ก่อน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๗๕,๐๕๔ บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน ๒๑,๐๕๘ บาท นับแต่วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๑๑ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จและจากต้นเงิน ๕๔,๐๐๐ บาทนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จหากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระให้แก่โจทก์ก็ให้จำเลยที่ ๒ ชำระแทนจนครบ
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกาต่อมาความว่า จำเลยที่ ๒ ค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ต่อรัฐบาลสหรัฐ หรือเรียกว่า โอ.ไอ.ซี.ซี. ในการที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาจ้างกับ โอ.ไอ.ซี.ซี. และจำเลยที่ ๑ ได้ส่งมอบงานที่รับจ้างทำเรียบร้อยแล้ว จำเลยที่ ๒ กับโจทก์มิได้มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน ข้อกำหนดในสัญญาค้ำประกันที่ระบุให้ความรับผิดของผู้ค้ำประกันคลุมไปถึงบุคคลที่สามเป็นโมฆะ ทั้งในสัญญาค้ำประกันก็ไม่ได้ระบุว่าบุคคลที่สามคือโจทก์หรือเป็นผู้ใด จึงให้จำเลยที่ ๒ รับผิดไม่ได้ต้นฉบับสัญญาค้ำประกันโจทก์ไม่ได้อ้างส่งศาลจึงรับฟังไม่ได้
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าบริษัทจำเลยที่ ๑ ได้ว่าจ้างโจทก์ให้เป็นผู้จัดการโครงการสัญญา เอ็น – ๖๓๐๐๘ – ๖๘ ซี – ๐๒๙๑ ซึ่งบริษัทจำเลยที่ ๑ รับเป็นผู้จัดทำให้กับ โอ.ไอ.ซี.ซี. หน่วยราชการของกองทัพเรือสหรัฐโจทก์และบริษัทจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาจ้างต่อกันปรากฎตามเอกสารหมาย จ.๑ บริษัทจำเลยที่ ๑ ชำระค่าจ้างให้โจทก์ไม่ครบตามสัญญา โจทก์จึงมาฟ้องเรียกค่าจ้างเป็นคดีนี้และขอให้บังคับจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๓ ร่วมรับผิดด้วย
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วในปัญหาที่ว่าจำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่นั้นเห็นว่าแม้จำเลยที่ ๒ จะได้ทำสัญญาค้ำประกันตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข ๓ ต่อรัฐบาลสหรัฐหรือ โอ.ไอ.ซี.ซี. ในการที่จำเลยที่ ๑ รับจ้างทำงานกับ โอ.ไอ.ซี.ซี. โดยมิได้มีสัญญากับโจทก์โดยตรงก็ตาม แต่ข้อความในสัญญาค้ำประกันฉบับนั้นตามคำแปลที่ว่า “และถ้าหากว่าตัวการ (จำเลยที่ ๑ ) จะต้องจ่ายเงินให้กับบุคลลใด ๆ อันเป็นบุคคลที่สามโดยทันทีเพื่อค่าอุปกรณ์ ค่าแรงงานหรือค่าวัสดุเพื่อการดำเนินการในสัญญาตามสัญญานั้น และโดยไม่ต้องมีหนังสือบอกกล่าวการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ค้ำประกันทราบ หนังสือฉบับนี้ยังคงให้มีผลบังคับและให้มีอำนาจบังคับได้ และจะสิ้นผลบังคับเมื่อตัวการ (จำเลยที่ ๑) ได้ปฏิบัติตามสัญญาโดยถูกต้องทุกประการแล้ว” เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๓๗๔ โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกจึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ ๒ ชำระหนี้ให้โจทก์ตามข้อกำหนดในสัญญานั้นได้ ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าข้อกำหนดในสัญญาค้ำประกันที่ระบุให้ความรับผิดของผู้ค้ำประกันคลุมไปถึงบุคคลที่สามเป็นโมฆะ โดยอ้างเหตุว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะค้ำประกันไม่มีระบุให้ความรับผิดของผู้ค้ำประกันคลุมเลย ไปถึงบุคคลที่สามนั้นเห็นว่ากรณีนี้เป็นเรื่องจำเลยที่ ๒ ทำสัญญามีข้อความดังกล่าวแล้วเป็นการผูกพันตนต่อรัฐบาลสหรัฐหรือ โอ.ไอ.ซี.ซี. เพื่อชำระหนี้ให้แก่บุคคลที่สามในเมื่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ใหักับบุคคลนั้นเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายแต่อย่างใด จึงมีผลบังคับได้หาตกเป็นโมฆะไม่ ส่วนที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้อ้างต้นฉบับสัญญาค้ำประกันเป็นพยานจึงรับฟังไม่ได้ และโจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยที่ ๒ ชำระหนี้นั้น ตามคำให้การของจำเลยที่ ๒ มิได้ปฏิเสธว่ามิได้ทำสัญญาฉบับดังกล่าวนั้นโจทก์จึงไม่จำเป็นต้องส่งต้นฉบับต่อศาล ฎีกาของจำเลยที่ ๒ ดังกล่าวแล้วฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน