คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 979/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขับรถยนต์โดยห้ามล้อมือและเท้าชำรุดใช้การไม่ได้อยู่แล้วขณะขับมาตามถนนเกิดเหตุซึ่งเป็นถนนจราจรทางเดียว รถยนต์ข้างหน้ารถจำเลยชลอหยุดรถเพราะรถคันข้างหน้าอีกคันหนึ่งเลี้ยวเข้าซอยด้านซ้ายมือ จำเลยจึงไม่สามารถหยุดรถทันท่วงทีเพราะความชำรุดใช้การไม่ได้ของห้ามล้อรถ และต้องหลบเฉี่ยวชนด้านท้ายรถข้างหน้าไปชนรถสามล้อบรรทุกซึ่งผู้ตายกำลังจูงอยู่ทางด้านขวามือ เป็นเหตุให้รถสามล้อพลิกตะแคงและครูดทับผู้ตาย ซึ่งถ้าห้ามล้อรถใช้การได้จำเลยก็ควรหยุดรถได้ทันเช่นเดียวกับรถคันข้างหน้า เช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงตาย และฝ่าฝืนกฎหมายจราจรทางบก โดยตามวันเวลาเกิดเหตุดังระบุในฟ้อง จำเลยได้ขับรถยนต์บรรทุกซึ่งห้ามล้อมือและห้ามล้อเท้าใช้การไม่ได้ มาตามถนนทรงวาดซึ่งเป็นถนนจราจรทางเดียว ขณะกำลังตามหลังรถยนต์เก๋งข้างหน้ามาถึงที่เกิดเหตุ รถยนต์เก๋งคันข้างหน้าชะลอหยุดเพื่อให้รถคันอื่นแล่นเข้าซอยด้านซ้ายมือโดยความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่นำรถซึ่งมีอุปกรณ์ใช้การไม่ได้ดังกล่าวมาใช้ในถนนสาธารณะ และไม่ดูความปลอดภัยข้างหน้ารถเสียก่อน จึงเป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกที่จำเลยขับมาเฉี่ยวชนท้ายรถยนต์เก๋งข้างหน้า แล้วจำเลยได้หลบรถไปทางด้านขวาเป็นเหตุให้รถที่จำเลยขับชนรถสามล้อบรรทุกพลิกคว่ำทับนายชอเฮียงซึ่งกำลังจูงรถสามล้อคันดังกล่าวอยู่ ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๙๑ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๒๙, ๖๖(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗, ๑๓ กฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) ข้อ ๑๒(๑) ข.และให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นเชื่อว่าเครื่องห้ามล้อรถของจำเลยอยู่ในสภาพใช้การได้แต่ได้เกิดชำรุดใช้การไม่ได้ขณะเกิดเหตุ การชนจึงเป็นเหตุสุดวิสัย และการที่จำเลยหักรถหลบไปด้านขวาก็เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้ขับรถยนต์โดยทั่วไป และการชนรถสามล้อลากไปเพียงระยะ ๕ เมตร แสดงว่าการชนมิได้เป็นไปโดยแรง การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติเช่นผู้ขับรถธรรมดาที่ตกอยู่ในภาวะเช่นนั้น ไม่เป็นความประมาท พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ และพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๒๙, ๖๖ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๗, ๑๓กฏกระทรวงมหาดไทยออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. ๒๔๗๗ (ฉบับที่ ๒) ข้อ ๑๓(๑) ข. แต่ให้ลงโทษจำเลยเฉพาะกระทงที่หนักที่สุดเพียงกระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑โดยให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ และปรากฏว่าทายาทของผู้ตายได้รับเงินค่าเสียหายจากฝ่ายจำเลยเป็นที่พอใจแล้ว เป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ซึ่งนับว่าเป็นการบรรเทาผลร้ายส่วนหนึ่งให้จำคุกจำเลยมีกำหนด ๓ ปี ชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง และเป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้จำเลย ๑ ใน ๓ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยมีกำหนด ๒ ปี และให้ถอนใบอนุญาตขับรถของจำเลยเสีย
จำเลยฎีกา
ข้อเท็จจริงได้ความว่าในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยขับรถบรรทุกขนาดกลางมาตามถนนทรงวาด ซึ่งเป็นถนนจราจรทางเดียว กว้างประมาณ๘ เมตร โฉมหน้าไปท่าน้ำสวัสดี โดยมีรถยนต์เก๋งซึ่งนายสิทธิชัยขับอยู่ข้างหน้า และมีรถยนต์เก๋งขับข้างหน้ารถนายสิทธิชัยอีกคันหนึ่งเมื่อถึงที่เกิดเหตุซึ่งมีซอยเยาวพานิชอยู่ทางด้านซ้ายมือและบริษัทห้องเย็นไทย จำกัดอยู่ทางด้านขวามือรถยนต์เก๋งคันข้างหน้ารถนายสิทธิชัยได้เลี้ยวเข้าซอยเยาวพานิชโดยไม่ให้สัญญาณไฟท้าย เมื่อนายสิทธิชัยชะลอรถ จำเลยซึ่งกำลังตามมาข้างหลังก็เหยียบเบรคแต่ปรากฏว่ารถไม่หยุด จำเลยจึงหักหลบไปทางขวาแต่ก็ยังเฉี่ยวชนด้านท้ายรถของนายสิทธิชัยและชนรถสามล้อบรรทุกซึ่งนายชอเฮียงผู้ตายกำลังเข็นลงมาข้างถนนด้านขวาพลิกตะแคงซึ่งเลยทับผู้ตายครูดไปตามถนนได้รับบาดเจ็บสาหัสและถึงแก่ความตายในวันต่อมา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เหตุที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากจำเลยขับรถโดยห้ามล้อมือและเท้าชำรุดใช้การไม่ได้อยู่แล้ว ขณะเกิดเหตุจึงไม่สามารถหยุดรถได้ทันท่วงที ซึ่งถ้าห้ามล้อรถใช้การได้ จำเลยก็น่าจะหยุดรถได้ทันเช่นเดียวกับรถของนายสิทธิชัย เมื่อจำเลยหักหลบรถของนายสิทธิชัยไปชนรถสามล้อบรรทุกที่ผู้ตายจูงอยู่ริมถนนด้านขวามือ จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาท
พิพากษายืน

Share