คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ประเด็นในคดีมีว่าผู้ร้องเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลหรือไม่ มีเหตุที่จะแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหรือไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 และผู้ร้องเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1718 หรือไม่ ส่วนที่ว่าเจ้ามรดกมีทายาทกี่คน ทรัพย์มรดกมีเท่าไรนั้นมิใช่ข้อสำคัญในคดี ดังนั้นแม้ผู้ร้องจะเบิกความเกี่ยวกับจำนวนทายาทหรือแสดงหลักฐานทรัพย์มรดกไม่ตรงต่อความจริงไปบ้าง ก็ไม่มีมูลความผิดฐานเบิกความเท็จหรือแสดงหลักฐานเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177, 180
คดีฟ้องขอถอดถอนผู้จัดการมรดกประเด็นในคดีอยู่ที่ว่า ผู้จัดการมรดกปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหน้าที่ผู้จัดการมรดกนี้เริ่มต้นแต่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งตามมาตรา 1716 ดังนั้น แม้ผู้จัดการมรดกจะเบิกความเท็จในคดีดังกล่าวว่าไม่รู้ตัวทายาทเจ้ามรดกบางคนในขณะที่ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีจึงไม่มีมูลความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เบิกความเท็จในข้อสารสำคัญของคดีในคดีแห่งหมายเลขแดงที่ ๒๘๘๔/๒๕๑๒ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายฮั่งยิ้ม แซ่เบ๊ กับในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๗๑๘๖/๒๕๑๔ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ถูกฟ้องถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดก และจำเลยที่ ๑ ทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลไม่ครบถ้วนโดยจงใจยักยอกทรัพย์สินกองมรดก นอกจากนี้จำเลยทั้ง ๕ ยังร่วมกันแจ้งความเท็จต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง เพื่อจะฉ้อโกงทรัพย์มรดกดังกล่าวทำให้โจทก์ทั้งสองและน้องของโจทก์อีกสามคนเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๑๗๗, ๑๘๐, ๓๔๑, ๓๕๒, ๓๕๓, ๓๕๔, ๘๓, ๘๔, ๘๖, ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า คดีโจทก์มีมูลเฉพาะข้อหาแจ้งความเท็จตามมาตรา ๑๓๗ ข้อหานอกนั้นไม่มีมูลให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้สั่งว่าคดีโจทก์มีมูลในฐานเบิกความเท็จและแสดงหลักฐานเท็จตามมาตรา ๑๗๗, ๑๘๐ ด้วย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ได้เบิกความต่อศาลในคดีที่จำเลยที่ ๑ ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายฮั่งยิ้ม แซ่เบ๊ ผู้ตายว่านายฮั่งยิ้มมีทายาท ๖ คน และมีทรัพย์มรดกประมาณ ๗๙๐,๐๐๐ บาท ความจริงนายฮั่งยิ้มมีบุตรอื่นกับนางนิภาอีก ๕ คน ซึ่งเป็นทายาทของนายฮั่งยิ้มเช่นเดียวกัน และนายฮั่งยิ้มผู้ตายมีทรัพย์มรดกประมาณ ๒,๔๐๐,๐๐๐ บาท และจำเลยที่ ๑ เบิกความในคดีที่นางนิภาเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ขอให้ถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกต่อศาลแพ่งว่าจำเลยที่ ๑ เพิ่งทราบว่าโจทก์กับน้องอีก ๓ คนเป็นทายาทนายฮั่งยิ้มหลังจากถูกฟ้องแล้ว ซึ่งความจริงจำเลยที่ ๑ ทราบก่อนแล้วกับเมื่อจำเลยที่ ๑ ยื่นบัญชีทรัพย์ในกองมรดกของนางฮั่งยิ้มก็ทำไม่ถูกต้อง มีรายการทรัพย์ไม่ครบดังนี้ เห็นว่าในคดีซึ่งจำเลยที่ ๑ ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกประเด็นในคดีมีว่าจำเลยเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลหรือไม่ มีเหตุที่จะแต่งตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๑๓ หรือไม่ และจำเลยเป็นบุคคลต้องห้ามที่จะเป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา ๑๗๑๘ หรือไม่ ส่วนที่ว่าเจ้ามรดกมีทายาทกี่คน ทรัพย์มรดกมีเท่าไรนั้นแม้จำเลยจะเบิกความหรือแสดงหลักฐานไม่ตรงต่อความจริงไปบ้างก็หาใช่ข้อสำคัญในคดีไม่และสำหรับคดีที่จำเลยที่ ๑ ถูกฟ้องขอถอดถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกนั้นประเด็นในคดีอยู่ที่ว่าจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งหน้าที่ผู้จัดการมรดกนี้เริ่มต้นแต่ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งตามมาตรา ๑๗๑๖ ดังนั้นแม้จำเลยจะเบิกความเท็จในคดีดังกล่าวว่า จำเลยไม่รู้ตัวทายาทของเจ้ามรดกบางคนในขณะที่จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก็ตาม ก็ไม่ใช่ข้อสำคัญในคดีเช่น เดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ ๑ ยังไม่มีมูลความผิดฐานแสดงหลักฐานเท็จหรือเบิกความเท็จ
พิพากษายืน

Share