แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอมกำหนดไว้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ หนี้เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้เงินกู้รวม 36,130,856.01 บาทพร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 2 ตกลงร่วมรับผิดในหนี้ 27,265,664.86 บาท โจทก์ตกลงลดยอดหนี้ให้จำเลยทั้งสามเหลือจำนวน 19,152,000 บาท โดยให้ผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยอมให้โจทก์บังคับคดีในยอดหนี้เต็มจำนวนและยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องได้ทันที โดยไม่มีข้อความว่า หากบังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้โจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้ด้วย แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะบังคับคดีเอาจากทรัพย์จำนองเท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับชำระหนี้เอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามได้อีก และไม่อาจนำหนี้ที่เหลือมาฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีล้มละลายได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามขอให้ยกฟ้อง
ศาลล้มละลายกลางพิพากษาว่า มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสามเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 และให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลยทั้งสาม เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องในคดีแพ่งโจทก์จะฟ้องขอให้ชำระหนี้และบังคับจำนอง หากยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดได้ก็ตามแต่เมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความกลับระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 6 ว่า หากจำเลยทั้งสามผิดนัดชำระหนี้ข้อ 2 และข้อ 3 งวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีตามข้อ 1 และให้ยึดทรัพย์จำนองตามฟ้องได้ทันที และระบุในสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 7 ว่า โจทก์และจำเลยทั้งสามยินยอมตามข้อ 1 ถึงข้อ 6 ทุกประการ โดยไม่ติดใจเรียกร้องเงินอื่นใดอีก โดยไม่ปรากฏข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความว่า หากบังคับชำระหนี้เอาทรัพย์จำนองตามฟ้องออกขายทอดตลาดได้เงินไม่พอชำระหนี้โจทก์ก็ให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นได้ด้วย ดังนี้ แสดงว่าโจทก์และจำเลยทั้งสามประสงค์จะบังคับคดีแก่ทรัพย์จำนองตามฟ้อง (สามแปลง) เท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์บังคับเอาแก่ทรัพย์จำนองของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ หนี้ของจำเลยทั้งสามตามคำพิพากษา โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามได้อีก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามข้อนี้ฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาที่ว่า จำเลยทั้งสามมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ