คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2223/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คนยามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทโจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้จากบุรุษไปรษณีย์ ณ สำนักงานใหญ่ที่บริษัทโจทก์ได้จดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2513 ดังนี้ ถือว่าบริษัทโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา 30(2) ในวันนั้นแล้ว พฤติการณ์ต่าง ๆ ที่โจทก์นำสืบซึ่งทำให้ที่ปรึกษาากฎหมายของโจทก์ได้รับเอกสารดังกล่าวในวันที่ 1 กันยายน 2513 นั้น เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับเจ้าหน้าที่ของตนจะนำมาใช้ยันต่อจำเลยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ 30 กันยายน 2513 เกินกำหนด 30วัน คดีโจทก์จึงต้องห้ามตามมาตรา 30(2) แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลยกเลิกเพิกถอนแบบคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล ๑๑,๑๗๖,๗๑๕.๓๙ บาท และเงินเพิ่ม ๒,๒๓๕,๓๔๓.๐๗ บาท รวมเป็นเงิน ๑๓,๔๑๒,๐๕๘.๔๘ บาท (ที่ถูกควรจะเป็น ๑๓,๔๑๒,๐๕๘.๔๖ บาท)
จำเลยทั้งเจ็ดคนให้การรวมความได้ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๐(๒) เพราะโจทก์ได้รับและทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยแล้วเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๑๓ แต่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๑๓ ถือได้ว่าโจทก์มิได้ยื่นฟ้องภายในกำหนดเวลา ๓๐ วันนับแต่วันที่โจทก์ได้รับทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๓๐(๒) ที่แก้ไข พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการ พิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งเจ็ดฎีกา
คดีมีปัญหาที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่าบริษัทโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในวันที่ ๒๗สิงหาคม ๒๕๑๓ ดังที่จำเลยอ้างหรือได้รับแจ้งในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๓ ดังที่โจทก์อ้าง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายเมืองหรือบุญเมือง คนยามของบริษัทโจทก์ได้ลงชื่อรับไว้จากบุรุษไปรษณีย์ ณ สำนักงานใหญ่ของโจทก์เมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๑๓ ศาลฎีกาเห็นว่า การส่งเอกสารคำวินิจฉัยอุทธรณ์คดีนี้ได้ส่งให้แก่โจทก์ ณ สำนักงานใหญ่ที่บริษัทโจทก์ได้จดทะเบียนไว้ และส่งให้แก่คนยามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของโจทก์ ถือได้ว่าบริษัทโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา ๓๐(๒) ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๑๓ แล้ว ส่วนที่โจทก์นำสืบถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ที่ปรึกษากฎหมายของโจทก์ได้รับเอกสารดังกล่าวในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๑๓ นั้น เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับเจ้าหน้าที่ของตน จะนำมาใช้ยันต่อจำเลยหาได้ไม่ เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๑๓ เกินกำหนด ๓๐วัน คดีโจทก์จึงต้องห้ามตามมาตรา ๓๐(๒) แห่งประมวลกฎหมายรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษากลับเป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
(วิกรม เมาลานนท์ สุธี ชอบธรรม ยิ่งศักดิ์ กฤษณจินดา)

Share