คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1416/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เหตุที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยคำพิพากษาหรือคำสั่งตามที่กล่าวไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 นั้น ศาลสูงจะหยิบยกขึ้นอ้างตามมาตรานี้ได้ จะต้องมีเหตุอันสมควร เช่นว่า ทำให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งเสียหายในการต่อสู้คดีเป็นต้น
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ (มีคำฟ้องแย้งติดมาด้วย) โดยมิได้ให้โอกาสแก่โจทก์เป็นระยะเวลาตามที่มาตรา 181 กำหนดไว้นั้น ถ้าโจทก์ไม่พอใจ ก็ชอบที่จะคัดค้านไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 แต่กลับปรากฏว่าโจทก์ยื่นคำแก้คำให้การเพิ่มเติมและฟ้องแย้ง แสดงว่าโจทก์ไม่ติดใจ แม้ในอุทธรณ์ของโจทก์ก็มิได้กล่าวถึงเรื่องนี้ รูปคดีไม่น่าจะเห็นว่าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นเรื่องที่ศาลอุทธรณ์ไม่ควรหยิบยกเหตุนี้ขึ้นสั่งยกเลิกกระบวนพิจารณาบางส่วนของศาลชั้นต้น
คำฟ้องแย้งที่ติดมากับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การนั้น ไม่ใช่คำร้องที่อยู่ในบังคับที่จะต้องส่งสำเนาให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าก่อนสั่งรับคำร้องนั้น
คำสั่งศาลที่ให้รับคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับปัญหากฎหมายนี้มีว่า โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดระยองกล่าวความว่า จำเลยตกลงซื้อที่ดินพร้อมอาคารจากโจทก์ ในราคา ๒๐,๐๐๐ บาท ชำระในวันทำสัญญา ๔,๐๐๐ บาท อีก ๑๖,๐๐๐ บาท จะชำระในวันครบประกาศขาย ๓๐ วัน จำเลยได้รับมอบทรัพย์ให้ครอบครอง ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระส่วนที่ค้าง โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและขอให้ขับไล่จำเลย
จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้ว่า โจทก์มาขึ้นราคาเป็น ๒๕,๐๐๐ บาทในตอนหลัง จำเลยจึงยังไม่ชำระ แต่ก่อนวันชี้สองสถาน จำเลยขอแก้คำให้การเป็นว่า โจทก์ได้ตกลงขายกับจำเลยใหม่ในราคา ๑๖,๐๐๐ บาทเท่านั้น ยังค้างอยู่อีก ๑๒,๐๐๐ บาท จึงฟ้องแย้งขอให้โจทก์รับเงินที่เหลือนั้น คำสั่งรับคำร้องและสำเนาให้โจทก์แก้ โดยมิได้สั่งให้โจทก์คัดค้าน ๓ วัน และมิได้นัดพิจารณาคำร้องนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๑ (๑) ซึ่งเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๗ แต่โจทก์ก็มิได้ว่ากระไร กลับยื่นคำร้องแก้เพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลย
ศาลชั้นต้นฟังตามที่จำเลยอ้าง พิพากษาให้โจทก์แพ้
โจทก์อุทธรณ์ว่าเป็นดังที่ตนกล่าวอ้างโดยมิได้เท้าความถึงเรื่องคำสั่งของศาลชั้นต้นสที่สั่งให้รับคำร้องขอแก้คำให้การ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยอมรับคำร้องแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การโดยมิได้นัดพิจารณาคำร้องและส่งสำเนาให้โจทก์ทราบล่วงหน้าอย่างน้อย ๓ วัน ซึ่งคำร้องอย่างนี้ไม่ใช่คำร้องฝ่ายเดียว เป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๘๑ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓ ศาลอุทธรณ์จึงให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาส่วนนี้เสีย ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาส่วนนี้เสียใหม่ จำเลยจึงได้ฎีกาขึ้นมา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งรับการขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การนั้น เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หากศาลชั้นต้นสั่งโดยมิชอบ โจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านคำสั่งนั้นติดสำนวนไว้ หาไม่ก็ย่อมยกปัญหานี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์ในภายหลังไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๖ วรรค ๒ และศาลฎีกากล่าวด้วยว่า คำฟ้องแย้งที่ติดมากับคำให้การนั้น ไม่ใช่คำร้องที่อยู่ในบังคับที่จะต้องส่งสำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าก่อนสั่งรับ แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า ในคดีนี้ไม่ปรากฏว่าโจทก์ติดใจคัดค้านในเรื่องแก้ไขเพิ่มเติมนี้ กลับแสดงให้เห็นว่าโจทก์ต้องการให้ศาลชี้ขาดในประเด็นที่ตนกล่าวอ้างและต่อสู้ไว้ เมื่อรูปคดีไม่น่าจะทำให้โจทก์เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ก็ไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลอุทธรณ์จะพึงใช้มาตรา ๒๔๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเพื่อหยิบยกปัญหานี้ขึ้นมาเป็นเหตุยกเลิกกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่

Share