แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยยอมรับจะแบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกซึ่งตกอยู่กับจำเลยให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและสืบสิทธิของทายาทของเจ้ามรดก เป็นเวลาหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปกว่า 20 ปี แล้วนั้น ถือว่าจำเลยละประโยชน์แห่งอายุความในเมื่ออายุความครบบริบูรณ์แล้ว จำเลยจะยกอายุความขึ้นสู้ไม่ได้ (อ้างฎีกาที่ 1607/2505)
โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทโดยอ้างว่าเจ้ามรดกยกให้ก่อนตาย ทางพิจารณาฟังได้ว่าทรัพย์พิพาทยังไม่ได้ยกให้แก่ใคร เป็นมรดกที่โจทก์จำเลยจะได้รับร่วมกับทายาทอื่น ศาลย่อมพิพากษาให้แบ่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นทายาทของนายกุมมารนางจันทร์ คนทั้งสองตายไปแล้วก่อนตายนายกุมมารยกทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องให้โจทก์จำเลยคนละส่วนเท่า ๆ กัน แต่เมื่อไปแบ่งแยกจำเลยกลับไปย่อมแบ่ง ขอให้พิพากษาแบ่งทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องให้โจทก์จำเลยคนละส่วนเท่ากัน ฯลฯ
จำเลยให้การว่า ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องเว้นโค ๒ ตัว (ตามอันดับที่ ๙) เป็นทรัพย์ของบิดามารดาจำเลย ตกได้แก่จำเลย จำเลยครอบครอง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับ ๑ ถึง ๘ ให้โจทก์ที่ ๓ และจำเลยคนละส่วนเท่ากัน ฯลฯ
โจทก์ที่ ๑ที่ ๒ และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โค ๒ ตัว ตามบัญชีทรัพย์อันดับ ๙ ไม่เป็นมรดกของนายกุมมาร ส่วนตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ ๑ ถึง ๘ เป็นทรัพย์มรดกของนายกุมมาร
ในข้อที่ว่าโจทก์ทั้งสามหมดสิทธิรับมรดกเพราะขาดอายุความรับมรดกแล้วดังจำเลยต่อสู้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า รับฟังได้ว่าจำเลยได้รับต่อโจทก์ทั้งสามว่าทรัพย์พิพาทเป็นมรดกของนายกุมมารและยอมและยอมเจรจาทำความตกลงกับโจทก์ทั้งสามแบ่งปันทรัพย์ดังกล่าวเป็นส่วน ๆ ระหว่างกัน การที่จำเลยยอมรับจะแบ่งทรัพย์มรดกของนายกุมมารที่ตกอยู่กับจำเลยให้โจทก์ทั้งสาม ซึ่งเป็นทายาทและสืบสิทธิของทายาทของเจ้ามรดก เป็นเวลาหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปกว่า ๒๐ ปี ถือว่าจำเลยละประโยชน์แห่งอายุความในเมื่ออายุความครบบริบูรณ์แล้ว จำเลยจะยกอายุความขึ้นสู้ไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๒ และตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๐๗/๒๕๐๕) ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า โจทก์ทั้งสามหมดสิทธิรับมรดกเพราะขาดอายุความจึงตกไป ฟังว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิรับมรดกนายกุมมารตามบัญชีท้ายพิพาทอันดับ ๑ถึง ๘ ร่วมกับจำเลย
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอแบ่งทรัพย์พิพาทโดยอ้างว่านายกุมารยกให้ก่อนตาย ทางพิจารณาฟังได้ว่าทรัพย์พิพาทอันดับที่ ๑ ถึง ๘ ยังไม่ได้ยกให้แก่ใคร เป็นมรดกที่โจทก์จำเลยจะได้รับร่วมกับทายาทอื่น ศาลย่อมพิพากษาให้แบ่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ (๒)
ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายกุมารมีบุตร ๙ คน ปรากฎว่าบุตรบางคนตายไปแล้วแต่ก็มีผู้สืบสายที่รับมรดกแทนที่ได้จึงต้องแบ่งมรดกนายกุมารออกเป็น ๙ ส่วน ให้บุตรแต่ละคนคนละ ๑ ใน ๙ ส่วน โจทก์ที่ ๓ รับแทนที่นางใสผู้เป็นยาย โจทก์ทั้งสามจึงมีสิทธิได้รับแบ่งทรัพย์มรดกเท่ากันคนละ ๑ ใน ๙ ส่วน
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้แบ่งทรัพย์ตามบัญชีท้ายฟ้องอันดับที่ ๑ ถึง ๘ เป็น ๙ ส่วน ให้โจทก์ทั้งสามได้รับคนละส่วน ถ้าแบ่งไม่ได้ให้ประมูลระหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลย ถ้าประมูลไม่ได้ ก็ให้ขายทอดตลาดแบ่งเงินสุทธิให้โจทก์ทั้งสามตามส่วน