แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์จำเลยไม่อาจตกลงแบ่งที่ดินมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันไว้ในศาลได้ ที่ดินที่โจทก์จำเลยตกลงอุทิศให้มัสยิดหัวหมากตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ไม่มีมัสยิดหัวหมากที่จะได้รับประโยชน์ ข้อตกลงข้อนี้เป็นโมฆะต้องนำที่ดินส่วนที่ยกให้มัสยิดหัวหมากมาแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละเท่าๆ กัน โจทก์จำเลยได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินแปลงนี้ร่วมกันต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว ดังนี้ เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องจำเลยขอแบ่งที่ดินโดยอ้างว่ามัสยิดหัวหมากไม่มีตัวตนอยู่ ต้องนำที่ดินส่วนนั้นมาแบ่งระหว่างโจทก์จำเลย แต่ไม่อาจตกลงกันได้ ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งโจทก์จำเลยมีสิทธิร่วมกันในที่ดินมรดกแปลงนี้ ไม่อาจตกลงแบ่งกันได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมย่อมมีสิทธิฟ้องขอแบ่งจากจำเลยได้เสมอตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1363, 1364 ฟ้องของโจทก์ได้แสดงชัดแจ้งแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งขออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55, 172
เมื่อโจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่า มัสยิดหัวหมากไม่มีตัวตนดังที่ปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันในศาล แต่จำเลยให้การว่ามัสยิดหัวหมากมีตัวตนอยู่ ประเด็นหน้าที่นำสืบจึงตกแก่โจทก์ต้องนำสืบก่อนให้สมตามฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดที่ ๒๐๙๘ เนื้อที่ ๕๐ ไร่ ๑ งาน ๔๖ ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของนางโสม นางโสมถึงแก่กรรมโดยมิได้ทำพินัยกรรม ที่ดินแปลงนี้เป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์จำเลยซึ่งเป็นทายาทและผู้รับมรดกแทนที่ โจทก์มีสิทธิได้รับ ๑ ใน ๗ ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ ๗ ไร่ ๙๒ ตารางวา ราคา ๗๒,๐๐๐ บาท โจทก์จำเลยทุกคนไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินมรดกร่วมกันแล้วและปกครองที่ดินร่วมกัน โดยมิได้แบ่งแยกโฉนด ต่อมาจำเลยที่ ๑ ถึง ๖ ฟ้อง จำเลยที่ ๗, ๘ ขอแบ่งแยกโฉนด ได้ยอมความกัน โดยย่อมแบ่งแยกที่ดินตามส่วน และยอมแบ่งที่ดินส่วนหนึ่งให้มัสยิดหัวหมาก โดยโจทก์คดีนี้ก็ยอมตามสัญญายอมความนั้นด้วย แต่เมื่อเจ้าพนักงานไปรังวัดแบ่งแยกตามสัญญา จำเลยต่างไม่อาจตกลงกันได้ ทั้งมัสยิดหัวหมากไม่มีตัวตน โจทก์ขอให้พวกจำเลยจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อให้เจ้าพนักงานรังวัดแบ่งแยกที่ดินรายพิพาทให้โจทก์ ๑ ใน ๗ ส่วน แต่จำเลยไม่อาจตกลงกันได้ ขอให้ศาลบังคับ ฯลฯ
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๖ ให้การว่า ฟ้องโจทก์มิได้แสดงว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่กับจำเลย ฯลฯ
จำเลยที่ ๗, ๘ ขาดนัดยื่นคำให้การ
โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน
ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่ามีข้อโต้เถียงเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ ฯลฯ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์คงบรรยายฟ้องได้ความว่า โจทก์จำเลยไม่อาจที่จะตกลงแบ่งที่ดินมรดกตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ที่ดินที่โจทก์จำเลยตกลงอุทิศให้มัสยิดหัวหมากตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ไม่มีมัสยิดหัวหมากที่จะได้รับประโยชน์ ข้อตกลงข้อนี้เป็นโมฆะ ต้องนำที่ดินส่วนที่ยกให้มัสยิดหัวหมากมาแบ่งให้โจทก์จำเลยคนละเท่าๆ กัน กับโจทก์จำเลยได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินแปลงนี้ร่วมกันต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิ์ฟ้องจำเลยขอแบ่งที่ดินโดยอ้างว่า มัสยิดหัวหมากไม่มีตัวตนอยู่ ต้องนำที่ดินส่วนนั้นมาแบ่งระหว่างโจทก์จำเลย แต่ไม่อาจตกลงกันได้ประการหนึ่ง อีกประการหนึ่งโจทก์จำเลยมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินมรดกแปลงนี้ไม่อาจจะตกลงแบ่งกันได้ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมย่อมมีสิทธิจะฟ้องขอแบ่งจากจำเลยได้เสมอ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๖๓, ๑๓๖๔ ฟ้องของโจทก์ได้แสดงชัดแจ้งแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา จึงเป็นฟ้องที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕, ๑๗๒ แล้ว ศาลต้องรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
โจทก์ฎีกาต่อไปว่า มัสยิดหัวหมากผู้ซึ่งจะได้รับส่วนแบ่งตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่โจทก์จำเลยตกลงกันไว้นั้นไม่มีตัวตนอยู่ ข้อกำหนดในสัญญายอมจึงเป็นการพ้นวิสัยและตกเป็นโมฆะ ต้องนำที่ดินส่วนนี้มาแบ่งระหว่างโจทก์จำเลยคนละเท่าๆ กันนั้น
ประเด็นนี้ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรจะวินิจฉัยต่อไปทีเดียว ได้ความว่าโจทก์และจำเลยต่างแถลงไม่สืบพยาน เห็นว่า เมื่อโจทก์กล่าวอ้างข้อเท็จจริงว่ามัสยิดหัวหมากไม่มีตัวตนดังที่ปรากฏตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ จำเลยทำไว้ต่อกัน แต่จำเลยให้การว่ามัสยิดหัวหมากมีตัวตนอยู่ ประเด็นหน้าที่นำสืบ จึงตกแก่โจทก์ต้องนำสืบก่อนให้สมตามคำกล่าวอ้างในฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่นำพยานมาสืบฟ้องของโจทก์ก็รับฟังไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๔ และต้องแพ้คดีจำเลย
พิพากษายืน