แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เจ้าของจักรได้ให้เช่าซื้อจักรไปโดยมีข้อสัญญาว่าผู้เช่าซื้อจะไม่นำไปจำนำแก่บุคคลอื่น เมื่อผู้เช่าซื้อนำไปจำนำ โจทก์ผู้เป็นเจ้าของชอบที่จะกลับเข้าครอบครองจักรรายพิพาทได้ และใช้สิทธิติดตามฟ้องเรียกคืนจากผู้รับจำนำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เว้นแต่ผู้รับจำนำจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ แต่ปรากฏว่าเวลาที่รับจำนำจักรรายพิพาทยังอยู่ในระหว่างเวลาที่พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2480 และพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2484 ยังใช้บังคับ ซึ่งกำหนดให้โรงรับจำนำรับจำนำแต่ละรายไม่เกิน 400 บาท เมื่อผู้รับจำนำรับจำนำไว้แต่ละรายเกินกว่า 400 บาท ก็ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำดังกล่าว ส่วนพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.2505 ก็ไม่อาจนำมาใช้บังคับ เพราะผู้รับจำนำรับจำนำไว้ก่อน โจทก์ไม่จำต้องนำสืบว่าผู้เช่าซื้อมีเจตนาทุจริตหรือไม่และไม่จำต้องฟ้องเรียกร้องตามสัญญาจากผู้ค้ำประกันก่อน โจทก์มีสิทธิติดตามฟ้องเรียกจักรรายพิพาทคืนจากผู้รับจำนำได้โดยตรง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของจักร ได้ให้ผู้มีชื่อหลายคนเช่าซื้อจักรไป ๗ คัน ผู้มีชื่อเหล่านั้นได้นำเอาจักรดังกล่าวไปจำนำไว้แก่จำเลย จำเลยไม่ได้รับความคุ้มครองจากพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ ขอให้บังคับให้จำเลยคืนจักรในสภาพเรียบร้อยหรือมิฉะนั้นก็ให้ใช้เงินคืนแก่โจทก์
จำเลยสู้ว่า จำเลยในฐานะหุ้นส่วนและในฐานะโรงรับจำนำย่งเส็ง ได้รับจำนำจักรไว้โดยสุจริต เปิดเผยและชอบด้วยกฎหมายได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ.๒๔๐๕ หากผู้ซื้อและผู้ค้ำประกันผิดสัญญา โจทก์ชอบที่จะดำเนินคดีเป็นอีกส่วนต่างหาก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยได้รับจำนำจักรไว้ก่อนพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. ๒๕๐๕ ใช้บังคับจึงไม่ได้รับความคุ้มครองและขณะจำเลยรับจำนำจักรรายพิพาทไว้ อยู่ในระหว่างพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. ๒๔๘๐ และพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๘๔ ใช้บังคับอยู่ โดยให้สิทธิรับจำนำได้เพียงไม่เกินรายละ ๔๐๐ บาท จำเลยรับจำนำจักรไว้เกินคันละ ๔๐๐ บาท จึงไม่ได้รับความคุ้มครอง แม้จะรับไว้โดยสุจริตและเปิดเผยก็ตาม กรรมสิทธิ์ในจักรพิพาทยังเป็นของโจทก์ โจทก์มีสิทธิติดตามเรียกจากจำเลยได้ และเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะยังไม่ดำเนินคดีเอาแก่ผู้ซื้อและผู้ค้ำประกันก่อนได้ พิพากษาให้จำเลยร่วมรับผิดคืนจักรให้แก่โจทก์หรือใช้ราคา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์เป็นเจ้าของจักรรายพิพาท โจทก์ได้ให้เช่าซื้อไปโดยมีข้อสัญญาว่าผู้เช่าซื้อจะไม่นำไปจำนำแก่บุคคลอื่น เมื่อผู้เช่าซื้อนำไปจำนำจำเลย โจทก์ผู้เป็นเจ้าของชอบที่จะกลับเข้าครอบครองจักรรายพิพาทได้และใช้สิทธิติดตามฟ้องเรียกคืนจากจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ เว้นแต่จำเลยจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำแต่ปรากฏว่า เวลาที่จำเลยรับจำนำจักรรายพิพาทยังอยู่ในระหว่างเวลาที่พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. ๒๔๘๐ และพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๘๔ ยังใช้บังคับอยู่ ซึ่งกำหนดให้โรงรับจำนำรับแต่ละรายมีจำนวนเงินไม่เกิน ๔๐๐ บาท แต่คดีนี้จำเลยรับจำนำไว้แต่ละคันเป็นเงินเกินกว่า ๔๐๐ บาททั้งสิ้น จำเลยจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำดังกล่าวส่วนพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. ๒๕๐๕ ก็ไม่อาจจะนำมาใช้บังคับในเรื่องนี้ได้เพราะจำเลยรับจำนำไว้ก่อน การที่โจทก์ให้เช่าซื้อจักร อาจเป็นการเสี่ยงภัยแก่ตนเองอยู่บ้าง แต่กฎหมายก็บัญญัติให้โจทก์ทำได้ โจทก์ไม่จำต้องนำสืบว่าผู้เช่าซื้อมีเจตนาทุจริตหรือไม่ และโจทก์ไม่จำต้องฟ้องเรียกร้องตามสัญญาจากผู้ค้ำประกันก่อน โจทก์มีสิทธิตามฟ้องเรียกจักรรายพิพาทคืนจากจำเลยได้โดยตรง
พิพากษายืนยกฎีกาจำเลย.