แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำขอท้ายฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2499 มาตรา 4 นั้น เมื่อมาตรา 4 บัญญัติให้เพิ่มความเป็นมาตรา 27 ทวิ ก็เท่ากับโจทก์อ้างและขอให้ลงโทษตามความในมาตรา 4 คือ มาตรา 27 ทวิแล้ว
การกระทำของจำเลยผิดพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ มาตรา 27 ทวิ โทษเบากว่ามาตรา 27 และมาตรา 27 ทวิ เพิ่งบัญญัติขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2499 กับความผิดตามมาตรา 27 ทวิ นี้ไม่เป็นผิดตามมาตรา 27 ส่วนพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 32 ก็ให้ริบทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดพระราชบัญญัติศุลกากรซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น ที่ประชุมใหญ่เห็นว่าจะริบรถยนต์ของกลางตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 32 ไม่ได้ แต่ริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33 ได้ แม้โจทก์ไม่ได้อ้างมาตรา 33 แต่ก็ขอให้ริบรถยนต์ของกลางมาแล้ว ศาลจึงริบตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2510)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจรับและมีผลชูรสซึ่งเป็นสินค้าที่มีแหล่งผิดในต่างประเทศเป็นของต้องห้ามต้องจำกัด และมีผู้นำหลบหนีภาษีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรไทยไว้ในความครอบครองรวมทั้งราคาของและค่าภาษีศุลกากรเป็นเงิน ๘,๐๙๔.๑๐ บาท เมื่อจำเลยได้รับและมีผงชูรสดังกล่าวไว้ในครอบครองแล้ว จำเลยได้บังอาจใช้รถยนต์ของจำเลยเป็นยานพาหนะทำการบรรทุกเพื่อขนย้ายผงชูรสนั้นไปซ่อนเร้นที่อื่น หรือเพื่อจำหน่ายให้แก่ผู้อื่นโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยนำหลบหนีภาษีศุลกากรเข้ามา เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมผงชูรสและรถยนต์เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร และริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗, ๓๒ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ คงปรับ ๒๑,๔๖๔.๒๗ บาท ริบของกลางตลอดจนรถยนต์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เฉพาะบทลงโทษเป็นว่า จำเลยผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ มาตรา ๒๗ ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ ริบผงชูรสของกลางตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๘๒ มาตรา ๑๖,๑๗ และริบรถยนต์ของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา ศาลสั่งรับเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาเห็นว่า คำขอท้ายฟ้องโจทก์อ้างว่า จำเลยกระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๑๓) พ.ศ. ๒๔๙๙ มาตรา ๔ เมื่อมาตรา ๔ บัญญัติให้เพิ่มความเป็นมาตรา ๒๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ก็เท่ากับโจทก์อ้างและขอให้ลงโทษตามความในมาตรา ๔ คือมาตรา ๒๗ ทวิ แล้วจะว่าโจทก์มิได้อ้างมิได้ขอดังฎีกาจำเลยอย่างไรได้ ข้อที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อริบรถยนต์ตามมาตรา ๓๒ ที่โจทก์ขอไม่ได้แล้ว จะพิพากษาให้ริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓ ไม่ได้นั้น เห็นว่า การกระทำของจำเลยผิดพระราชบัญญัติศุลกากร ฯ มาตรา ๒๗ ทวิ ซึ่งกำหนดโทษเบากว่าความผิดมาตรา ๒๗ และเพิ่งบัญญัติขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ ความผิดตามมาตรา ๒๗ ทวิ ส่วนพระราชบัญญัติศุลกากรซึ่งใช้ในขณะนั้นศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า รถยนต์ของกลางคดีนี้จะริบตามมาตรา ๓๒ พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. ๒๔๖๙ ไม่ได้ และริบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๓ ได้เพราะมาตรา ๓๓ ก็ระบุว่า นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจริบทรัพย์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา ๓๓ นี้ด้วย ซึ่งกรณีความผิดในคดีนี้ นอกจากจะต้องด้วยบทบัญญัติที่ระบุไว้ในมาตรา ๓๓ แล้ว มาตรา ๒๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร ก็ไม่มีแสดงว่าจะมิให้ตกอยู่ภายในบังคับของมาตรา ๓๓ แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่โจทก์ไม่ได้อ้างมาตรา ๓๓
แห่งประมวลกฎหมายอาญามาด้วย ก็ปรากฏว่าขอให้ริบรถยนต์ของกลางมาแล้ว ศาลก็สั่งริบตามบทกฎหมายที่ถูกต้องให้ พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์