คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9173/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 มาตรา 8 ที่ใช้ในภายหลังให้ยกเลิกความในมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 โดยขยายองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้กระทำความผิดจาก “ผู้ไม่มีสัญชาติไทยผู้ใด” (ยื่นคำขอมีบัตร…) ให้เป็น “ผู้ใด” ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น การพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยผู้มีสัญชาติไทยเป็นความผิดหรือไม่จึงต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 2
ตามคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่า จำเลยเป็นผู้มีสัญชาติไทย ส่วนพวกจำเลยที่มาแอบอ้างและขอทำบัตร ประจำตัวประชาชนใหม่ ฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่าเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 มาตรา 14 เดิม จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วย
ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๑๔ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๒๖๗ และ ๘๓
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องเป็นคดีใหม่
จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๒ ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า…
อนึ่ง ขณะที่จำเลยที่ ๒ กระทำความผิด ยังไม่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๑๔ ซึ่งบัญญัติว่า “ผู้ไม่มีสัญชาติไทยผู้ใดยื่นคำขอมีบัตรโดยแจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าตนเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือใช้บัตรซึ่งตนหมดสิทธิใช้ตามมาตรา ๙ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท” แต่ต่อมาก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ มีพระราชบัญญัติ บัตรประจำตัวประชาชน(ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทนว่า
“ผู้ใด
(๑) แจ้งข้อความหรือแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จพนักงานเจ้าหน้าที่ในการขอมีบัตรตามมาตรา ๕ วรรคสี่ หรือมาตรา ๖ หรือการขอมีบัตรใหม่ตามมาตรา ๖ ตรี หรือการขอมีบัตรใหม่หรือขอเปลี่ยนบัตรตามมาตรา ๖ จัตวา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๒)…”
เมื่อพิจารณาแล้วเห็นได้ว่า กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดในคดีนี้ได้ขยายองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องเป็น “ผู้ไม่มีสัญชาติไทยผู้ใด” ให้เป็น “ผู้ใด” ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น ในการพิจารณาว่ากระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นความผิดหรือไม่จึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติ บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๑๔ เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้มีสัญชาติไทย ส่วนพวกของจำเลยที่ ๒ ที่มาแอบอ้างและขอทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ในนามของนายนิคมนั้นฟ้องโจทก์ก็มิได้ระบุว่า เป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๑๔ เดิม จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าว ถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) แม้จำเลยที่ ๒ ให้การรับสารภาพ ก็ลงโทษจำเลยที่ ๒ ในข้อหาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ ปัญหานี้เป็น ข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสองประกอบด้วยมาตรา ๒๒๕
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ในข้อหาตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๑๔ จำเลยที่ ๒ คงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ และ ๒๖๗ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ การกระทำของจำเลยที่ ๒ เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓

Share