คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9165/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีที่มีพินัยกรรม ศาลอาจต้องตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรมตาม ป.พ.พ.มาตรา 1713 วรรคสอง เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมเอกสารพิพาท จึงเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของพินัยกรรมตามคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านเอง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องนี้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านและบุตรครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครั้งหนึ่งยกให้แก่ผู้ร้องและบุตร ในพินัยกรรมกำหนดให้ผู้คัดค้านและผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง และตั้งผู้คัดค้านกับผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ร่วมกัน
ระหว่างพิจารณา ผู้คัดค้านแถลงรับข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมือง ดังที่ผู้ร้องอ้างจริง และคู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงร่วมกันขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเพียงว่า พินัยกรรม สมบูรณ์หรือไม่ ส่วนประเด็นข้อพิพาทอื่นที่ปรากฏในคำคู่ความให้ศาลวินิจฉัยตามที่เห็นสมควร
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งตั้ง บ. ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ พ. ผู้ตาย ยกคำร้องคัดค้าน ให้ผู้คัดค้านใช้ ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความให้ ๓,๐๐๐ บาท
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า…
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า ผู้ตายเป็นภริยาของนายเลี่ยมซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๒๗ มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือนายเริ่มกับผู้คัดค้าน ผู้ร้องเป็นภริยาของนายเริ่มซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๐ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๒๘ ผู้ตายทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองที่ที่ว่าการอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี กำหนดให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมาวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๓๘ ผู้ตายพิมพ์ลายนิ้วมือลงในพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่งซึ่งกำหนดให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย พินัยกรรมฉบับนี้นายเรียน ทองงาม ทนายความเป็นผู้จัดทำให้ และมีนายเรียนกับทนายความในสำนักงานของนายเรียนอีก ๔ คน ลงชื่อเป็นพยาน ตามเอกสารหมาย ค.๑๐ หลังจากนั้น ในวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๓๘ ผู้ตายถึงแก่ความตาย
ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ความสมบูรณ์ของพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.๑๐ ผู้ร้องมิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนและมิได้ตั้งประเด็นมาในคำร้อง การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าพินัยกรรมฉบับนี้ไม่สมบูรณ์ย่อมเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นนั้น เห็นว่า การตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีที่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ศาลต้องตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๑๓ วรรคสอง เมื่อผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.๑๐ จึงเป็นประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของพินัยกรรมฉบับนี้ตามคำร้องคัดค้านของผู้คัดค้านเอง นอกจากนี้ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๓๙ ยังปรากฏว่าคู่ความแถลงร่วมกันขอให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.๑๐ สมบูรณ์หรือไม่อีกด้วย คดีจึงมีประเด็น ข้อพิพาทในเรื่องนี้และศาลล่างทั้งสองหาได้วินิจฉัยนอกประเด็นแต่อย่างใดไม่ ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่าผู้ตายทำพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.๑๐ ในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ พินัยกรมฉบับนี้จึงไม่มีผลบังคับให้เป็นการเพิกถอนพินัยกรรม เอกสารหมาย ร.๑๒ และต้องตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามข้อกำหนดพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.๑๒ ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share