คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9132/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่นาพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และทางราชการยังมิได้จัดให้เป็นที่ทำกินของราษฎร จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 การที่ พ. เข้าครอบครองทำนาในที่ดินพิพาท ก็เพียงมีสิทธิในที่นาพิพาทดีกว่าบุคคลอื่น แต่ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พ. จึงยกเอาการครอบครองของตนใช้ยันต่อรัฐไม่ได้ แม้ พ. จะครอบครองหรือทำนาพิพาทเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิในนาพิพาทตามกฎหมาย ทั้งยังอาจถูกฟ้องร้องขอให้ลงโทษ ตามพ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติฯ อีกด้วย เมื่อ พ. เข้าครอบครองที่นาพิพาทโดยไม่ชอบจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่นาพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะเข้าไปไถนาและปลูกข้าวในที่นาพิพาทก็ไม่เป็นการรบกวนการครอบครอง ที่อสังหาริมทรัพย์ของ พ. อันจะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 362, 365

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๖๒, ๓๖๕ และนับโทษจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ต่อจากโทษของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ในคดีดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๓๖๒, ๓๖๕ (๒) จำคุกคนละ ๑ ปี คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า นายพรมหรือพรมมา นามบุตร ผู้เสียหายฟ้องขับไล่นายสาย จันทร์พล ให้ออกจากที่นาพิพาท ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ได้มีคำพิพากษายืนตาม คำพิพากษาของศาลชั้นต้นให้นายสายและบริวารออกจากที่นาพิพาท คดีถึงที่สุดตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ นายสายและจำเลยทั้งสองได้ออกจากที่นาพิพาทตามคำพิพากษาแล้ว ตามวันเวลาเกิดเหตุในฟ้อง จำเลยทั้งสองได้เข้าไปไถและปลูกข้าวในที่นาพิพาทอีก นายพรมหรือพรมมาจึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อ เจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุก เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสอง กล่าวหาเป็นคดีนี้ มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองเข้าไปไถและปลูกข้าวในนาพิพาทเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของนายพรมหรือพรมมาโดยปกติสุขหรือไม่ เห็นว่า ที่นาพิพาทอยู่ในเขตป่าสงวน แห่งชาติ และทางราชการยังมิได้จัดให้เป็นที่ทำกินของราษฎร จึงเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินซึ่งสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๐๔ การที่นายพรมหรือพรมมาเข้าครอบครองทำนาในที่ดินพิพาท ก็เพียงแต่ถือว่านายพรมหรือพรมมามีสิทธิในที่นาพิพาทดีกว่าบุคคลอื่น แต่พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ ห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ นายพรมหรือพรมมาจึงยกเอาการครอบครองของตนใช้ยันต่อรัฐไม่ได้ ดังนั้น แม้นายพรมหรือพรมมาจะครอบครองหรือทำนาพิพาทนานเท่าใดก็ไม่ได้สิทธิในนาพิพาทตามกฎหมาย ทั้งยังอาจถูกฟ้องร้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ อีกด้วย นายพรมหรือพรมมาเข้าครอบครองที่นาพิพาทโดยไม่ชอบจึงไม่ได้สิทธิครอบครองที่นาพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะเข้าไปไถนาและปลูกข้าวในที่นาพิพาทไม่เป็นการรบกวนการครอบครองที่อสังหาริมทรัพย์ของนายพรมหรือพรมมา อันจะเป็นความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๕ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกา ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share