คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8746/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 218 (1) โดยศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน เมื่อปรากฏว่า กระท่อมนาและทรัพย์สินที่ถูกเพลิงไหม้มีราคาเพียงเล็กน้อย ทั้งกระท่อมนาดังกล่าวปลูกอยู่กลางทุ่งนา รอบกระท่อมนาไม่มีบ้านเรือนบุคคลอื่นอยู่ และขณะเกิดเหตุกระท่อมนาไม่มีบุคคลอยู่อาศัย ย่อมไม่อาจเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 223 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนโดยไม่ได้แก้ไข จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ฎีกาในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๗, ๒๑๘
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๘ (๑) ให้จำคุก ๕ ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๒ ปี ๖ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยวางเพลิงเผากระท่อมนา อันเป็นโรงเรือนที่อยู่อาศัยของนายหนูกัน กองแสน ผู้เสียหาย ทำให้เพลิงลุกไหม้กระท่อมนาและทรัพย์สินเสียหาย ขอให้ลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๗, ๒๑๘ จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์นำพยานเข้าเบิกความประกอบคำรับสารภาพของจำเลยโดยมีผู้เสียหายและนางใบ กองแสน ภริยาของผู้เสียหายมาเบิกความฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้จุดไฟเผากระท่อมนาของผู้เสียหายทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้กระท่อมนาและทรัพย์สินที่เก็บไว้ในกระท่อมนาเสียหายหมด แต่ขณะเกิดเหตุกระท่อมนาดังกล่าวไม่มีผู้ใดพักอาศัย ปลูกอยู่กลางทุ่งนาห่างจากบ้านผู้เสียหายประมาณ ๑ กิโลเมตร รอบกระท่อมนาไม่มีบ้านเรือนบุคคลอื่นอยู่ ผู้เสียหายใช้พักผ่อนตอนไปทำนาและเก็บสิ่งของเก่า ๆ ที่เหลือใช้และทรัพย์บางอย่างก็ใช้การไม่ได้แล้ว รวมราคาทรัพย์ที่ถูกเพลิงไหม้ทั้งสิ้นประมาณ ๒๐,๐๐๐ บาท ดังนี้ จึงต้องถือว่ากระท่อมนาและทรัพย์สินที่ถูกเพลิงไหม้มีราคาเพียงเล็กน้อย ทั้งกระท่อมนาดังกล่าวปลูกอยู่กลางทุ่งนาและขณะเกิดเหตุ ไม่มีบุคคลอยู่อาศัย ย่อมไม่อาจเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๓ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๑๘ (๑) ให้จำคุก ๕ ปี และศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษายืนโดยไม่ได้แก้ไข จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษจำคุกนั้น เห็นว่า ผู้เสียหายกับจำเลยเป็นญาติกัน หลังเกิดเหตุจำเลยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายเป็นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท ถือได้ว่าเป็นการบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติของจำเลยตลอดจนสภาพความผิดประกอบกันแล้วกรณีจึงมีเหตุอันควรปรานีเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีและประกอบสัมมาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ต่อไป ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อให้หลาบจำ เห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่ง และคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๒๓ จำคุก ๓ ปี และปรับ ๖,๐๐๐ บาท เมื่อลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน และปรับ ๓,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ ๒ ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ ๓ ครั้ง มีกำหนด ๒ ปี ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีก กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด ๓๐ ชั่วโมง ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔

Share