คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2347/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่า การเลิกจ้างไม่เป็นธรรมอันเป็นเหตุให้นายจ้างต้องใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 หรือไม่ ต้องพิจารณาที่เหตุแห่งการเลิกจ้างว่ามีเหตุจริงหรือไม่ และเหตุนั้นเป็นเหตุสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างหรือไม่ซึ่งเหตุดังกล่าวอาจเป็นเหตุที่เกิดขึ้นจากการกระทำของลูกจ้าง หรือเหตุอื่นที่ไม่ใช่ความผิดของลูกจ้างก็ได้
ส่วนการเลิกจ้างที่นายจ้างจะเลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้นจะต้องปรากฏว่าลูกจ้างได้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 583 และการเลิกจ้างที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย จะต้องปรากฏว่าลูกจ้างได้กระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 ข้อใดข้อหนึ่ง
จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุที่จำเลยขาดสภาพคล่องทางการเงินและไม่มีผู้ร่วมลงทุนใหม่ แม้เป็นเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แต่ก็ไม่ใช่เหตุเลิกจ้างที่ทำให้จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งมิได้เป็นเหตุที่ทำให้จำเลยเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนดไว้

Share