แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 54 ส่วนอุทธรณ์เกี่ยวกับเอกสารหมาย ล.2 ที่โจทก์อ้างว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณกับโจทก์นั้น เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น จึงไม่รับ
โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาที่ว่า การที่จำเลยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์ และศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานที่ขัดต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ด้วย
หมายเหตุ จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 58)
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า7,500 บาท ค่าชดเชย 22,500 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 50,000 บาท ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์12,000 บาท ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี 2,250 บาท ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 2,750 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย ฯลฯและให้จำเลยออกใบสำคัญการผ่านงานแก่โจทก์ด้วย
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยออกใบสำคัญการผ่านงานแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 54)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 55)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังพยานบุคคลและพยานเอกสารว่าโจทก์ขาดงาน ลาหยุด และมาทำงานสายบ่อยครั้ง ไม่ติดต่อจำหน่ายสินค้าของจำเลยต่อห้างสรรพสินค้าตามหน้าที่ ซึ่งจำเลยได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้โจทก์มิได้ลงชื่อในสมุดลงเวลาทำงานแต่โจทก์มิได้ขาดงาน มิได้ทำงานสาย โจทก์มิได้รับทราบคำตักเตือนเป็นหนังสือ ดังนี้ เป็นอุทธรณ์ที่โต้เถียงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางว่าโจทก์งดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ส่วนอุทธรณ์ที่ว่าขั้นเดิมไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ไม่มีการลงชื่อในสมุดลงเวลาทำงาน แต่จำเลยจัดให้มีขึ้นต่อภายหลังเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่โจทก์เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 20 นั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางมิได้ถือเอาความข้อนี้เป็นเหตุเลิกจ้างที่เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม แต่ศาลแรงงานกลางฟังในแง่เป็นพยานหลักฐานที่โจทก์ขาดงาน ลาหยุด และทำงานสายบ่อยครั้งแล้ว ไม่ไปติดต่อจำหน่ายสินค้าให้แก่จำเลย อุทธรณ์ข้อนี้ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง ไม่เป็นสาระแก่คดี และอุทธรณ์ที่ว่าศาลแรงงานกลางไม่ได้วินิจฉัยเรื่องค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี วันหยุดพักผ่อนประจำปีโดยละเอียดว่าโจทก์มีสิทธิได้รับหรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยแล้วว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับ หาจำต้องให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยซ้ำอีกไม่ ศาลแรงงานกลางไม่รับอุทธรณ์โจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง