แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของโจทก์ฉบับที่ 2นี้ แม้จะยื่นเข้ามาภายในระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยายออกไปก็ตามแต่ก็เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นเดิมซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาโจทก์เห็นว่า ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาข้อกฎหมายที่ว่า การที่ทนายโจทก์ป่วยมาศาลไม่ได้ถือว่ามีเหตุอันสมควรหรือไม่ที่จะร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โปรดสั่งยกคำร้องศาลชั้นต้น โดยให้รับฎีกาของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป
หมายเหตุ จำเลยได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 107)
สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 181,166
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ยื่นฎีกาฉบับแรก ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา (อันดับ 101 แผ่นที่ 5)
โจทก์ยื่นฎีกาฉบับที่สอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าว(อันดับ 103)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 105 แผ่นที่ 2)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้เป็นเรื่องโจทก์ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยอาศัยข้อเท็จจริงแต่ประการใด จะนำบทบัญญัติมาตรา 220 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาบังคับแก่กรณีเช่นนี้หาได้ไม่โจทก์ย่อมมีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ซึ่งในปัญหาทำนองเดียวกันนี้ศาลฎีกาก็เคยรับวินิจฉัยให้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่3207/2524 คดีระหว่างนายสมบูรณ์ ศรีปัญญาวิญญู โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัดไพบูลย์การพิมพ์ กับพวก จำเลย จึงให้รับฎีกาโจทก์