คำสั่งคำร้องที่ 2142/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่าฎีกาข้อ 3 ก. เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 ส่วนข้อ 3 ข. เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 จึงไม่รับจำเลยเห็นว่า ฎีกาข้อ 3 ก. เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยยกขึ้นฎีกาได้ แม้ว่าจำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่ามาแล้วในชั้นอุทธรณ์ ส่วนฎีกาข้อ 3 ข. ก็เป็นปัญหาข้อกฎหมายเช่นเดียวกันซึ่งบรรดาข้อเท็จจริงทั้งหลายยุติแล้วตั้งแต่ศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้เป็นเรื่องการตีความ และแปลคำฟ้องของโจทก์ที่คลาดเคลื่อนไปจากฟ้องโจทก์เท่านั้น ซึ่งไม่จำต้องรับฟังข้อเท็จจริงนอกสำนวนความแต่อย่างใด โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์แถลงข้างคำร้องว่าได้รับสำเนาแล้ว (อันดับ 43)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสุราพ.ศ. 2493 มาตรา 4,5,30,32,44,45 ฯลฯ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฯลฯ ลงโทษฐานมีภาชนะและเครื่องมือใช้สำหรับทำสุราจำคุก 2 เดือน ฐานทำสุราและขายสุรา จำคุก 6 เดือน ฐานมีสุราปรับ 1,000 บาท และฐานมีแสตมป์สุราปลอมจำคุก 6 เดือน เรียงกระทงลงโทษ รวมจำคุก 1 ปี 2 เดือน และปรับ 1,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก7 เดือนและปรับ 500 บาท ฯลฯ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับดังกล่าว (อันดับ 42)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 43)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ฎีกาจำเลยข้อ 3 ก. ที่ว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท จำเลยต้องรับโทษบทหนักที่สุดเพียงบทเดียวนั้น แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นว่าในชั้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจำเลยยกขึ้นฎีกาได้ ให้รับฎีกาข้อนี้ของจำเลยไว้พิจารณาส่วนฎีกาจำเลยข้อ 3 ข. นั้น ตามคำฟ้องได้บรรยายไว้ชัดแจ้งว่ายึดได้สุราแม่โขงปลอมบรรจุหม้ออะลูมิเนียม 1 ใบ ปริมาณน้ำสุรา 1.500 ลิตร ซึ่งหมายความว่ามีปริมาณน้ำสุรา 1 ลิตร500เซนติลิตร กับสุราแม่โขงปลอมบรรจุขวดขนาด 0.750 ลิตรจำนวน6 ขวด มีปริมาณสุรา 4.500 ลิตรซึ่งก็หมายความว่าสุรา 6 ขวด นั้น มีปริมาณน้ำสุรารวมกัน 4 ลิตร500 เซนติลิตร เช่นเดียวกัน หาใช่มีปริมาณ 1.500 ลิตร กับ 4,500 ลิตร ดังที่จำเลยกล่าวอ้างมา ในฎีกาว่าศาลล่างทั้งสองคงจะแปลความเช่นนั้น จึงไม่รอการลงโทษ ให้จำเลย แต่ฎีกาข้อนี้ก็หาใช่เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายไม่ เพราะเป็นการโต้เถียงเพื่อนำไปสู่ปัญหาที่ว่าสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาล จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของจำเลยข้อนี้ชอบแล้ว

Share