คำสั่งคำร้องที่ 1123/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 จึงไม่รับ
จำเลยเห็นว่า ในความผิดข้อหาทำร้ายร่างกาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้บทลงโทษจำเลยจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295,59 เป็น มาตรา 295,68,69 ซึ่งเป็นการแก้ไขมาก และยังมีปัญหาข้อกฎหมายในประเด็นที่ว่า การกระทำของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 นั้น เป็นการกระทำโดยมีเจตนาทำร้ายหรือกระทำเพื่อป้องกันสิทธิ และจำเลยกระทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ซึ่งจำเลยฎีกาได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในข้อหานี้ส่วนความผิดข้อหาหมิ่นประมาทนั้น จำเลยเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ศาลล่างฟังมาไม่พอแก่การวินิจฉัยคดี ซึ่งจำเลยได้ฎีกาขอให้ศาลพิจารณาพยานหลักฐานใหม่ทั้งหมด อีกทั้งได้ฎีกาว่าการสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 96)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91,295,326 ฯลฯ ความผิดตามมาตรา 295 ให้จำคุก 77 เดือน ความผิดตามมาตรา 326 ให้จำคุก 1 เดือน รวมจำคุก8 เดือน คำเบิกความของจำเลยมีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 6 เดือน
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295,68,69 ให้จำคุก 3 เดือนเมื่อรวมกับโทษตามมาตรา 326 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้วจำคุก 4 เดือน คำให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับดังกล่าว (อันดับ 92)
จำเลยจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 93)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ในความผิดข้อหาทำร้ายร่างกายนั้น ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ศาลอุทธรณ์จะแก้น้อยหรือแก้มากแต่ก็ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามานี้ จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 219 ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 นั้น เป็นการกระทำโดยเจตนาทำร้ายหรือกระทำเพื่อป้องกันสิทธิก็ดี และจำเลยกระทำให้ผู้เสียหายได้รับบาดเจ็บหรือไม่ก็ดี ล้วนแต่เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงทั้งสิ้นจึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวส่วนความผิดข้อหาหมิ่นประมาทนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำคุก 1 เดือนจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 ที่จำเลยฎีกาว่า การกล่าวข้อความของจำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความผู้เสียหายนั้นจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีเจตนากระทำผิดหรือไม่ จึงต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าวสำหรับฎีกาของจำเลยที่ขอให้เรียกพยานโจทก์ทั้งหมดมาพิจารณาใหม่นั้น ก็เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลซึ่งเป็นข้อเท็จจริงและข้อที่จำเลยฎีกาว่าการสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะพนักงานสอบสวนสั่งผู้เสียหายไปตรวจบาดแผลที่โรงพยาบาลบางกะปิ แล้วพนักงานสอบสวนกลับส่งผู้เสียหายไปตรวจบาดแผลที่โรงพยาบาลตำรวจอีกโดยมีเจตนาเพื่อให้จำเลยได้รับโทษหนักขึ้นนั้นศาลฎีกาเห็นว่าการสอบสวนคดีเป็นหน้าที่และอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวนแม้พนักงานสอบสวนส่งผู้เสียหายไปตรวจบาดแผลที่โรงพยาบาลบางกะปิ แล้วต่อมาได้ส่งผู้เสียหายไปตรวจบาดแผลที่โรงพยาบาลตำรวจอีก ก็ย่อมอยู่ในอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะกระทำเช่นนั้นได้ ไม่ทำให้การสอบสวนเสียไป ดังนั้นฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกานั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share