แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า โจทก์ร่วมฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมโดยอาศัยข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 เห็นว่าฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงไม่รับฎีกาโจทก์ร่วมเห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยอาศัยทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย จึงไม่ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 นอกจากนี้ฎีกาของโจทก์ร่วมยังเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า คำรับของจำเลยที่รับก่อนที่พนักงานสอบสวนจะสอบสวนจำเลยโดยพูดกับนายวีระสิทธิ์ว่า “อาจมีการเข้าใจผิด ในขณะนั้นต้องการปลอมจึงหอมผมนางธิดา(ซึ่งหมายถึงโจทก์ร่วม)” นั้นเป็นการรับข้อเท็จจริงที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประโยชน์ของตนเองจะรับฟังลงโทษจำเลยได้หรือไม่ ซึ่งปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลสูง โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ร่วมไว้พิจารณาต่อไปด้วย
หมายเหตุ จำเลยแถลงคัดค้าน (อันดับ 89 ก)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 278 ระหว่างพิจารณา นางธิดา สิงห์ทอง ผู้เสียหาย ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 85)
โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 88)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ที่โจทก์ร่วมฎีกาว่าคำรับของจำเลยที่รับต่อผู้อื่นก่อนที่พนักงานสอบสวนจะสอบสวนจำเลยรับฟังลงโทษจำเลยได้นั้น ซึ่งแม้จะเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายแต่ก็เป็นข้อกฎหมายที่ไร้สาระที่ไม่ทำให้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลล่างทั้งสองเปลี่ยนไป ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกาของโจทก์ร่วมจึงชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง