คำสั่งคำร้องที่ 222/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาของโจทก์เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 ไม่รับฎีกา
โจทก์เห็นว่า โจทก์ได้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ลงนามในหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราจำเลยที่ 1สั่งจ่ายเงินจากธนาคารได้ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่จำเลยที่ 3 สั่งจ่าย จึงมีปัญหาว่าการมอบอำนาจของจำเลยที่ 2ดังกล่าวถือว่าเป็นผู้ใช้หรือไม่ฎีกาของโจทก์จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไปด้วย
หมายเหตุ จำเลยที่ 2 แถลงคัดค้าน (อันดับ 73)
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 84
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์มีมูล จึงมีคำสั่งให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 ที่ 3หลบหนี ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และให้จำหน่ายคดีชั่วคราว ต่อมาจำเลยที่ 2 เข้ามอบตัวศาลจึงให้ยกคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ขึ้นพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว (อันดับ 67)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 70)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่าในการออกเช็คของบริษัทจำเลยที่ 1 กรรมการคนใดคนหนึ่งมีอำนาจออกเช็คแทนได้แต่ต้องประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2กับกรรมการอื่นได้ทำหนังสือมอบอำนาจไว้ เป็นการมอบอำนาจทั่ว ๆ ไปจำเลยที่ 3 เพียงผู้เดียวเป็นผู้ออกเช็คพิพาทและประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1 ถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมหรือใช้ให้จำเลยที่ 3ออกเช็คพิพาทตามฟ้อง และพิพากษายกฟ้อง โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อมอบอำนาจไว้ ฟังได้ว่าได้ร่วมหรือใช้ให้จำเลยที่ 3 กระทำผิดออกเช็คพิพาทตามฟ้องนั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220ที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาโจทก์ชอบแล้ว ยกคำร้อง

Share