แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า คดีนี้ราคาทรัพย์ที่พิพาทมีราคาเพียงหนึ่งแสนบาท และส่วนที่ฟ้อง ขับไล่ก็มีค่าเช่าเดือนละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาของจำเลยทั้งสามเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามไม่จำต้องไต่สวนเรื่องอนาถาจำเลยที่ 1 ที่ 3 ให้ยกเลิกคำสั่งในเรื่องไต่สวนอนาถาไม่รับฎีกาของจำเลยทั้งสาม
จำเลยทั้งสามเห็นว่า คดีนี้ ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาว่าโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามในฐานะผู้ละเมิดออกจากอสังหาริมทรัพย์ มิใช่คดีฟ้องขับไล่ผู้เช่าหรือผู้อาศัยและเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงอย่างไรก็ตามฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อ 2.2.1 และข้อ 3 ก็เป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย โปรดมีคำสั่งให้รับฎีกาของจำเลย ทั้งสาม โดยให้ทำการไต่สวนคำร้องอนาถาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ต่อไปด้วย
หมายเหตุ โจทก์ได้รับสำเนาคำร้องแล้ว (อันดับ 145)
คดีทั้งสามสำนวนนี้ โจทก์เป็นบุคคลเดียวกัน ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกัน โดยเรียกจำเลยในสำนวนแรกและสำนวนถัด ๆ ไปว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามและบริวารรื้อถอนบ้าน เลขที่ 119,119/1,119/2 หมู่ 4 ตำบลบ้านสวนอำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ออกจากที่พิพาท กับให้จำเลยแต่ละคนชำระค่าเสียหายให้โจทก์คนละ 200 บาทต่อเดือน นับแต่ วันฟ้องจนกว่าจะรื้อถอนบ้านออกจากที่พิพาท ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 1
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 139)
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 143)
คำสั่ง
จำเลยที่ 1 ยกข้ออ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ขึ้นต่อสู้กรรมสิทธิ์โจทก์และฟ้องแย้งขอให้ศาลวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจึงเป็นคดีพิพาทกันในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ซึ่งมีราคา 100,000 บาทตามที่คู่ความตีราคาไว้จำเลยที่ 1 จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหา ข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคแรก ส่วนคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2และที่ 3 นั้น โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2และที่ 3 ออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจให้เช่าได้ขณะยื่นฟ้องไม่เกินเดือนละ10,000 บาท จำเลยที่ 2 และที 3 มิได้ยกข้อต่อสู้ว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่โจทก์ฟ้อง คงอ้างแต่เพียงว่า ที่ดินที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์โดยการได้มาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จึงมิใช่คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง ฎีกาของ จำเลยทั้งสามในข้อ 2.2.1 ที่ว่าการฟ้องร้องตามสัญญาเช่ากฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารคือสัญญาเช่าเป็นหนังสือมา นำสืบ การที่ศาลฟังว่ามีการเช่ากันจริงจากการฟังพยานบุคคลจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น พอปรับได้ว่า จำเลยทั้งสามยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ขึ้นฎีกาแต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามให้ออกไปจากอสังหาริมทรัพย์อ้างหลักกรรมสิทธิ์ มิได้ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามตามสัญญาเช่า และจำเลยที่ 1 ก็มิได้ฟ้องแย้งขอให้บังคับตามสัญญาเช่าจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าโจทก์จะฟ้องบังคับจำเลยทั้งสามตามสัญญาเช่าได้หรือไม่และจำเลยที่ 1จะฟ้องแย้งบังคับโจทก์ตามสัญญาเช่าได้หรือไม่ การที่จำเลยทั้งสามยกปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 538 ขึ้นกล่าวอ้างเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสาม จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรกฎีกาของจำเลยทั้งสามในข้อ 3 นั้น เป็นฎีกานอกประเด็นคำให้การ จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะจำเลยทั้งสามมีสิทธิอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเช่าของนายเหี่ยงสามีจำเลยที่ 1 นั้น เป็นเรื่องระหว่างจำเลยทั้งสามกับโจทก์ไม่กระทบกระเทือนถึงประชาชน จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคแรก ศาลชั้นต้นจึงไม่จำต้องไต่สวนคำร้องขอฎีกาอย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1และที่ 3 ดังนั้นคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 2 และยกคำร้องขอฎีกาอย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 กับมี คำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ให้ยกอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสาม